พระธรรมเทศนา
ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
แสดงพระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
ณ วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อายุโท พลโท ธีโรติ
บัดนี้จะได้แสดงธรรมะข้อหนึ่ง
อันเป็นคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ัฟังสักเล็กน้อย
เพื่อเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังกายและกำลังใจ
คนเรามีชีวิตอยู่ด้วย กำลังกาย และ กำลังใจ
ถ้าปราศจาก ๒ สิ่งนี้แล้ว ชีวิตก็จะดำรงอยู่ไม่ได้
กำลังกายนั้นถึงเราจะบำรุงส่งเสริมด้วยปัจจัย ๔
มีโลกียทรัพย์ เป็นต้น สักเท่าใด
ก็ไม่วายเสื่อมสิ้นหมดไปด้วยธรรมดาและธรรมธาตุ
คือ ไม่พ้นจากความแก่ เจ็บ ตาย และยังต้องอาศัยกำลังใจช่วยด้วย
ส่วนกำลังใจนั้นไม่ต้องอาศัยปัจจัย ๔ คือ โลกียทรัพย์ เลยก็ได้
ไม่ต้องอาศัยกำลังทางส่วนร่างกาย
อาศัยแต่ "อริยทรัพย์" อย่างเดียวก็ทรงตัวอยู่ได้
ดังนั้นกำลังใจจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่ากำลังกาย
คนที่ไม่มีกำลังของตัวเองก็ต้องหวังพึ่งคนอื่นไปก่อนจนกว่าจะตั้งตัวได้
การพึ่งคนอื่นนี้ก็ต้องระวังหาที่พึ่งให้ดี ตรงกับบาลีว่า
อเสวนา จ พาลานํ ปณฺฑิตานญฺจเสวนา
คือ ต้องเลือกคบคนที่ดี คบแต่นักปราชญ์บัณฑิต
ท่านจะได้ช่วยแนะนำสั่งสอนให้เราเป็นคนดี
ถ้าไปคบกับคนพาลก็จะต้องได้รับผลร้าย ที่พึ่งอันนี้จึงไม่จัดว่าดีจริง
เพราะถ้าจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับการยิงนก อาจจะถูกปีกมันบ้างหรือหางมันบ้าง
ถ้าจะให้ถูกตรงเป้าดำจริงแล้วก็ต้องอาศัยที่พึ่งอีกอย่างหนึ่ง คือ
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือ การพึ่งตนของตนเอง
อย่างนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากเป็นอย่างยอด
เพราะทำให้เราได้รู้จักกรรมดี กรรมชั่วของตนเอง คือ "กมฺมสฺสโกมฺหิ"
แล้วเราก็จะไม่ต้องไปหวังพึ่งคนอื่นอีกเลย
การหาที่พึ่งอันนี้ต้องอาศัยธรรม ๕ ประการ คือ
สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกว่า พละ
หรือกำลังที่จะเป็นเครื่องช่วยค้ำจุนส่งเสริมให้เรามีกำลังใจก้าวไปสู่ความดี
รวมลงแล้วก็สงเคราะห์อยู่ใน ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง
คือ ศรัทธา ได้แก่ ศีล
วิริยะ สติ และสมาธิ เข้าอยู่ใน สมาธิ
และปัญญาก็เข้าใจในองค์ปัญญา
๑.) ศรัทธา
เมื่อผู้ใดมี "ศรัทธา" ก็เท่ากับมีทรัพย์แล้ว เขาเป็นผู้ไม่จน
"ศีล" เป็นเหมือนผ้าขาวที่หุ้มห่อพันกายให้งดงาม
เหมือนกลีบดอกบัวที่ห่อหุ้มความหอมของเกสรไว้
และเป็นตัว "ปหานธรรม" ที่คอยตัดทำลายความชั่วทุจริตทางกายให้เป็นกายสุจริต
นี้เป็นตัวศีลแต่ก็ยังไม่ดีนัก และเมื่อมีศีลแล้วก็จะต้องมี "ธรรม" กำกับด้วย
๒.) วิริยะ
"วิริยะ" เป็นตัวขยันหมั่นเพียร บากบั่น
แกล้วกล้าในกิจการงานไม่ท้อถอย
เพื่อให้เป็นกำลังเจริญก้าวหน้าในความดี
๓.) สติ
"สติ" เป็นตัวสำรวมระวังในการดำเนินทางกาย วาจา ใจ
ไม่ให้ผิดพลาด กำหนดรู้ในความดีความชั่ว
อันเป็นเหตุที่จะไม่ให้ความประพฤติตกไปในทางบาปอกุศลได้
๔.) สมาธิ
"สมาธิ" คือ ความตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว
คือ "เอกายน มรรค" ไม่ให้จิตโอนเอน
โยกคลอนหรือหวั่นไหวไปในอารมณ์ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
ทั้งอดีต และอนาคต ต้องทำใจให้เป็น "มโนสุจริต"
ทั้ง ๓ องค์นี้ (วิริยะ สติ สมาธิ) เรียกว่า "ศีลธรรม"
ละวิตก วิจาร พยาปาทะ วิหิงสา เป็น "เนกฺขมฺมสงฺกปฺโป"
จิตไม่เข้าไปยินดียินร้ายในกิเลสกามและพัสดุกาม ทั้งดีและชั่ว
เป็นจิตของ "ผู้บวช" ถึงจะบวชก็ตาม ไม่บวชก็ตาม
อยู่บ้านก็ตาม อยู่วัดก็ตาม จัดเป็น "ผู้บวช" ทั้งสิ้น
คัดลอกจาก...
หนังสือแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน ๒
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์
(พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
พิมพ์เผยแพร่โดย ชมรมกัลยาณธรรม หน้า ๕๐-๕๓
อริยทรัพย์เป็นเครื่องบำรุงกำลังใจ : พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
อริยทรัพย์เป็นเครื่องบำรุงกำลังใจ : พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!