ถาม : แนวคิดของการทำงานทางโลก เขาต้องการให้เราทำไปให้เต็มที่ มีบ้าน มีรถยนต์ แต่คราวนี้เรามาทำบุญ ก็คล้ายๆ กับสวนทางกัน ?
ตอบ : ไม่สวนทางกัน
ถาม : อยู่กับทางโลก ก็ไปทางโลกเลย
ตอบ : ตรงกลางมี หลวงปู่มหาอำพัน ท่านเคยให้ข้อคิดไว้ว่า “ถ้าเป็นชีวิตฆราวาสเราต้องคิดเสมอว่าเรายังไม่ตาย เราต้องทำหน้าที่การงานของเราให้เต็มที่ แต่ถ้าหากว่าเป็นชีวิตของนักบวชหรือผู้ปฏิบัติธรรมให้คิดเสมอว่า ความตายอยู่แค่ศีรษะของเรา เราต้องเร่งปฏิบัติให้เต็มที่เหมือนกัน”
อย่างที่ว่ามาก็คือตรงกลาง ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หมายความว่า หน้าที่ของเรามีอะไรเราก็ทุ่มเทของเราไป อย่างชนิดที่ว่าจะทำเอาเหรียญทองหรือว่ารางวัลอะไรของบริษัทไปเลย แต่พอถึงเวลากลับบ้านเราก็ทุ่มให้กับการปฏิบัติของเรา ไม่มีอะไรน่าสับสนหรอกจ้ะ แค่แบ่งเวลาให้เป็นเท่านั้น
ถาม : ที่เขากล่าวว่า “การคิดเป็นเรื่องของโลก การพิจารณาเป็นเรื่องของธรรม” อันนี้ถูกต้องสมบูรณ์ไหมครับ ?
ตอบ : สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากการฟัง จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการคิด ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง เมื่อฟังแล้วนำมาขบคิดจนเข้าใจ สภาพจิตจึงจะยอมรับตามนั้น คราวนี้คุณเห็นแล้วยังว่าต่างกันตรงไหน ?
ที่คุณพูดมาเป็นแค่การเล่นสำนวนเฉยๆ ถ้าไม่คิดก็เข้าไม่ถึงธรรม แต่ว่าการคิดนั้นจะต้องมีระบบ และขณะเดียวกันก็ต้องมีกำลัง ถ้ากำลังไม่เพียงพอก็ได้แค่คิด สภาพจิตยังไม่สามารถที่จะก้าวข้าม ก็คือไม่สามารถจะยอมรับอย่างแท้จริงได้
คราวนี้เราจะสร้างพลังให้กับการคิดของเราได้ ก็ต้องเอาตัวสมาธิเข้าไปเสริม ตัวสมาธิของเราจะช่วยให้การคิดเป็นระบบ ชัดเจน และถ้าสิ่งนั้นไม่เกินกำลังในตอนนั้น ก็สามารถที่จะยอมรับได้ สรุปว่าไม่ว่าจะคิดหรือพิจารณา ก็เป็นเรื่องของทางโลกและทางธรรมด้วย แยกไม่ได้ เพราะว่าลำดับขั้นตอนนั้นสืบเนื่องกันไป
สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕
ที่มา : เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๕ -
หน้า 6 - กระดานสนทนาวัดท่าขนุน
ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม
ตรงกลางระหว่างทางโลกและทางธรรม
เครดิต :