ถาม : ทำงานธนาคารกับทำธุรกิจส่วนตัว อย่างไหนดีกว่าครับ ?
ตอบ : ตัดสินใจเอง ไม่ต้องถามพระหรอก ไม่ต้องถามคนอื่น เดี๋ยวไปเจอหมอดูบอกว่าต้องไปสะเดาะเคราะห์ ก็จะเสียสตางค์อีก
เป็นลูกจ้างเขามั่นคงตรงรายรับ แต่ไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน ทำงานส่วนตัวมั่นคงในหน้าที่การงาน แต่รายรับไม่แน่นอน เพราะฉะนั้น..มีข้อบกพร่องทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องเสียเวลาถามพระหรือถามหมอดู ลุยไปเลย
ทำอะไรทุ่มเทให้เต็มที่แล้วทุกอย่างจะดีเอง ส่วนใหญ่ที่มีปัญหาเพราะว่าไปไว้วางใจให้ผู้อื่นทำแทน โดยเฉพาะในเรื่องของกิจการ ถ้าไม่มีนักบริหารมืออาชีพมาทำให้เราก็แย่ คนอื่นๆ เขาไม่มีสำนึกความเป็นเจ้าของ ในเมื่อขาดสำนึกความเป็นเจ้าของ เขาก็ไม่ทุ่มเทเหมือนกับที่ตัวเราทำ แล้วผลสุดท้ายก็เละจนได้
แต่ผู้บริหารมืออาชีพส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แม้เขาไม่พอใจแนวคิดของเรา แต่ถ้าเขาเป็นลูกจ้าง เขาเต็มใจทำให้ ถามว่ามีจุดบกพร่องไหม ? มี..เพราะว่าผู้บริหารที่เราจ้างมา พอไปถึงระดับหนึ่ง ถ้าเขาขาดพลังในการสนับสนุนก็ไปต่อไม่ได้ ความคิดมี งบประมาณไม่มี ก็ไปต่อไม่ได้ ขณะเดียวกันเจ้าของกิจการมีงบประมาณ แต่ความคิดไม่มี ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น..ทั้ง ๒ ฝ่ายต้องเกื้อกูลกันถึงจะไปรอด ยกให้แค่ฝ่ายเดียวไปไม่ได้ สรุปว่าตัดสินใจเองว่าจะเลือกทำแบบไหน
ถ้าเราคิดว่าเราอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา ก็ถือว่าเราเป็นมืออาชีพในสาขานั้น ถ้าเจ้านายคนไหนเข้าใจคนอย่างเรา เราก็ทำงานกับเขาได้ ต่อให้ทะเลาะกันทุกวันก็ทำงานกับเขาได้ อาตมากับเจ้านายทะเลาะกันทุกวันเลย เจ้านายเขาสั่งมาแล้วอาตมาเห็นว่าไม่เข้าท่าก็เถียง คราวนี้ก็ต้องสู้กันด้วยเหตุด้วยผล บางทีเจ้านายเขาไม่เข้าใจที่เราไม่ตามใจเขา อาตมาเองก็บอกเจ้านายไปว่าตามใจไม่ได้ เพราะถ้างานพังอาตมาก็เสียด้วย
สมมติว่าทำงานธนาคาร บริหารธนาคารล่มไป ต่อไปใครจะมาจ้างเรา ? ก็เลยต้องผูกขาติดกัน อาตมากับเจ้านายทะเลาะกันทุกวัน แต่พอถึงเวลาที่อาตมาลาออก เขาบอกว่าอยู่ทำงานกับเขาต่อไปเถอะ แสดงว่าเจ้านายค่อนข้างชอบความเจ็บปวด ชอบความรุนแรง เจอลูกน้องประเภท "ได้ครับพี่ ดีครับนาย สบายครับผม เหมาะสมครับท่าน" ไม่ยอมเอา
ตอนนี้กำลังขยายวิธีคิดทางโลกๆ แบบนี้ ให้กับพระนิสิตที่อาตมาสอนอยู่ ให้เขารู้วิธีการคิดที่มองในลักษณะบูรณาการ คือรอบด้าน เพราะส่วนใหญ่คนเราจะคิดแง่เดียว คิดจะทำกิจการอะไรสักอย่างหนึ่ง ลงทุนแค่นี้ ทำไประยะเวลาแค่นี้ มีผลกำไรแค่นี้ ถึงเวลาสิ้นเดือนปิดงบฯ ต้องมีรายรับประมาณแค่นี้ หนึ่งปีมีแค่นี้ ถ้าคิดแค่นี้จบแล้ว ส่วนใหญ่เจ๊ง ๙๙.๙๙%
ทำอะไรทุ่มเทให้เต็มที่ แล้วทุกอย่างจะดีเอง
พระพุทธเจ้า ตรัสแล้ว สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง รายรับที่เราไปคิดว่าวันหนึ่งได้ ๑๐๐ บาท เดือนหนึ่งได้ ๓,๐๐๐ บาท ปีหนึ่งก็ได้ ๓๖,๐๐๐ บาท นั่นเราคิดแบบเที่ยง ก็แสดงว่าเราคิดผิดไปจากที่พระพุทธเจ้าสอน ถ้าเกิดวันหนึ่งดันได้ไม่ถึง ๑๐๐ บาท ซ้ำยังติดลบไป ๑๐๐ บาท แล้วเราจะทำอย่างไร ? คราวนี้เห็นหรือยังว่าต้องคิดไปในด้านไหนบ้าง ? ไม่ใช่คิดแต่ทางได้อย่างเดียว ต้องคิดในทางเสียด้วย
คราวนี้คิดในทางได้ ต้องคิดวางแผนด้วยว่า เราต้องทำอย่างไรเราถึงจะได้อย่างนั้น ถ้าคิดในทางเสียก็ต้องคิดวางแผนด้วยว่า ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขเหตุการณ์นั้นได้ เห็นหรือยังว่าต้องคิดอย่างไรบ้าง ? นี่แค่แนวคิดที่ไม่กว้างพอ ยังไม่รอบด้านเลย
ถ้าหากเราปฏิบัติธรรมไปถึงระดับหนึ่ง การที่เราคิดพิจารณาสิ่งต่างๆ จนกระทั่งเห็นสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านั้น จะเข้าไปสู่ลักษณะ สัพเพ สังขารา อนิจจา สัพเพ สังขารา ทุกขา สัพเพ สังขารา อนัตตา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้คลุมโลกหมดแล้ว ในเมื่อคลุมโลกหมด ความคิดอื่นก็ไม่หลุดไปจากนี้หรอก เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเสียด้วยซ้ำไป แต่ว่ามนุษย์โลกเราสามารถบัญญัติเป็นวิชาการไปทำด็อกเตอร์ ไปทำศาสตราจารย์กันให้ยุ่งไปหมด
ถึงได้ชอบใจ หลวงพ่อวัดท่าซุง ท่านเรียก พระพุทธเจ้า ว่า "ด็อกเตอร์สรรพศาสตร์" เพราะ พระพุทธเจ้าท่านรู้ทุกเรื่อง พวกนั้นรู้แค่เรื่องเดียวก็เป็นศาสตราจารย์ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ทุกเรื่อง ซึ่งให้ตำแหน่งอะไรท่านไม่ได้ มีตำแหน่งเดียวคือตำแหน่ง สัมมาสัมพุทธะ ซึ่งคนอื่นเป็นแทนไม่ได้
แต่ถ้าพอพูดอย่างนี้พวกเราเกิดความไม่มั่นใจ กลายเป็นไม่กล้าทำ ไม่กล้าเสี่ยง อยากจะบอกว่าทุกอย่างต้องเสี่ยง กินข้าวยังต้องระวังเลยว่าจะติดคอตายหรือเปล่า ในเมื่อกินข้าวยังต้องระวัง งานอื่นจะไม่ให้มีความเสี่ยงเลยชีวิตนี้คงน่าเบื่อตายชัก สมัยก่อนอาตมาตัดสินใจ ๘๐ % ถึงทำ พอทำไปๆ ๗๐ % ก็ได้ ๖๐ % ก็ได้ ๕๐ % ก็ได้ ตอนนี้เหลือแค่ ๑ % มีอุปสรรค ๙๙ % ให้ลุยจะชอบมาก สะใจดี ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้นี่ สนุกเป็นบ้าเลย..!
ในเรื่องของการปฏิบัติธรรมก็ต้องอย่างนี้ การที่เราสู้กับกิเลส โอกาสชนะกิเลสแทบจะมองไม่เห็นประตูเลย เหมือนกับเอาค้อนและสิ่วไปสกัดเขื่อน ชาตินี้เขื่อนจะพังไหม ? แต่ถ้าไม่ลองทำแล้วจะรู้ไหมว่าเขื่อนแข็งแรงจริงหรือเปล่า ? สมมติว่าเราประเมินตัวเองว่ามีอายุไม่จำกัด เราก็ตอกสิ่วไปเรื่อยวันละนิดวันละหน่อย เขื่อนจะพังไหม ? พัง..! ถ้าเรามีเวลาไม่จำกัดเขื่อนต้องพัง
แต่คราวนี้เวลาเราจำกัด เราก็ต้องใช้กำลังใจที่ไม่จำกัด ก็คือ ต้องทุ่มเทสติ สมาธิ ปัญญาทั้งหมดอยู่ตรงนั้น เอามาทดแทนระยะเวลาที่จำกัด ในเมื่อเราทุ่มเทส่วนนั้นไปอย่างเต็มที่ ผลงานก็ต้องมี เวลาเราน้อยไปสกัดอย่างนั้นไม่ได้ เราก็ใช้ระเบิดไดนาไมต์หรือไม่ก็พาวเวอร์เจล ยัดเข้าไปสิ มีปืนใหญ่ มีรถถัง ถล่มเข้าไป ดูสิจะพังไหม ?
ในแง่ของการปฏิบัติธรรมก็ต้องอย่างนั้น กำลังใจของคุณต้องมุ่งจุดเดียว เมื่อมุ่งจุดเดียว ถึงเวลาเจาะไปเรื่อยเดี๋ยวก็ทะลุเอง ส่วนใหญ่พวกเราเจาะๆ ไปเรื่อย “ไม่ไหว..ตรงนี้แข็งจัง..ย้ายที่ใหม่ดีกว่า” ย้ายที่ใหม่คือคุณต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง ตอกไปอีกเสียหน่อยหนึ่ง ๓ - ๕ วัน “ไม่ได้เรื่องเลย..ตรงนี้ก็แข็ง ย้ายที่ใหม่ดีกว่า” แบบนี้ชาติหน้าบ่ายๆ คงจะสำเร็จ..! ต้องที่เดียว ประเภทสู้กันหัวชนฝา ถ้าฝาไม่แตกฝาไม่พัง ก็ให้หัวแตกกันไปเลย
ส่วนใหญ่พวกเราเป็นไฟไหม้ฟาง แหย่เข้าหน่อยค่อยมีไฟ ลับหลังเดินไปได้แค่สามก้าวก็หมดไฟอีกแล้ว สมควรตายจริงๆ เลย..!
สนทนากับพระครูวิลาศกาญจนธรรม (พระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ)
เก็บตกจากบ้านวิริยบารมี ต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๕๕