นินทากับปัญญา

นินทากับปัญญา



ญาติโยมทั้งหลาย วันนี้ก็เป็นวันแรกของเดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ (๔ พ.ค. ๒๕๓๔ ที่สายลม) ก็ขอแนะนำกับบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท มาเที่ยวนี้ก็ขอข้อเดียวนะ คือ "นัตถิ โลเก อนินทิโต" คำว่า "นัตถิ โลเก อนินทิโต" แปลว่า คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก

การที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทเคยบ่นกันว่า เวลาภาวนาจิตใจมันฟุ้งซ่าน การฟุ้งซ่านก็มี ๒ ทางคือ

๑. เราฟุ้งซ่านเอง
๒. คนอื่นทำให้เราฟุ้งซ่าน


เราฟุ้งซ่านเองก็หมายความว่าพอจิตเริ่มเป็นสมาธิ อารมณ์ที่เป็นกิเลสมันก็เข้ามาแทรกเรียกว่า กิเลสมาร คิดเรื่องโน้นบ้างคิดเรื่องนี้บ้างเข้ามาแทรก ทั้งที่เราตั้งใจจะทรงให้อารมณ์จิตดีอย่างนี้ ท่านเรียกว่า "กิเลสมาร" หรือบางทีถ้าร่างกายปวดโน่นปวดนี่ อย่างนี้เขาเรียกว่า "ขันธมาร" ทำให้จิตใจฟุ้งซ่านเป็นของธรรมดา ถ้าเราจะฝึกเฉพาะสมาธิอย่างเดียว เราก็หนีกิเลสไม่พ้น เราต้องใช้ปัญญาด้วย

สำหรับปัญญา ถ้าใช้มากเกินไปก็ไม่ดี ต้องใช้แต่พอควร เวลาที่เขาต้องการเอาชนะ ชนะทีละอย่าง อย่างไหนเบาเอาชนะอย่างนั้น จงตั้งใจเอาชนะเฉพาะอย่าง นี่เป็นวิปัสสนาแล้วนะ เดี๋ยวก่อน กลับต้นใหม่

อันดับแรกญาติโยมพุทธบริษัทให้ใช้สติสัมปชัญญะ ให้สมบูรณ์ตามกำลังที่พึงทำได้ สติ คือการนึกถึง สัมปชัญญะ คือการรู้ตัว

การเจริญพระกรรมฐานต้องมีเหตุ ๓ ประการร่วมกัน คือ หนึ่งศีล สองสมาธิ สามปัญญา

ต้องมีสติสัมปชัญญะ นึกรู้ไว้เสมอว่าเวลานี้ศีลเราบริสุทธิ์ไหม ถ้าศีลข้อไหนไม่บริสุทธิ์ก็พยายามรักษาศีลข้อนั้น เคี่ยวเข็ญข้อนั้นให้บริสุทธิ์ให้ได้ ค่อยๆทำไป ค่อยๆละ ค่อยๆเตือนใจตนเอง ใหม่ๆ เราก็เผลออยู่บ้างเป็นของธรรมดา เมื่อเราบังคับใจหนักๆ เข้ามันก็เกิดอาการชิน อารมณ์ก็ชินเอง ศีล ๕ ก็บริสุทธิ์

ต่อมาเรื่อง สมาธิ สมาธินี่เกี่ยวกับนิวรณ์ ถ้าเราสามารถเอาชนะนิวรณ์ได้ จิตก็เป็นสมาธิตลอดกาล ถ้าเอาชนะนิวรณ์ไม่ได้ จิตก็เป็นสมาธิตลอดกาลไม่ได้

คำว่า "นิวรณ์" แปลว่า กิเลสหยาบที่ทำปัญญาให้ถอยหลัง ก็หมายความว่าถ้าคนใดมีนิวรณ์อยู่ในใจ เวลานั้นไร้ปัญญา ก็คือ

กามฉันทะ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ คำว่า "รูป" นี่ไม่ได้หมายถึงรูปคนเสมอไป เป็นรูปคน รูปสัตว์ รูปวัตถุก็ตาม ถ้าพอใจในความสวยสดงดงามแล้วจิตฟุ้งซ่าน เรียกว่านิวรณ์
อารมณ์ไม่พอใจ อารมณ์ก็ฟุ้งซ่าน เป็นนิวรณ์
อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่านคิดมากมาย คิดโน่นคิดนี่ คิดก้าวหน้าเกินไปก็เป็นนิวรณ์ หรือสงสัยในข้อปฏิบัติ ก็เป็นนิวรณ์

นินทากับปัญญา

รวมความว่า จิตเราต้องเอาชนะนิวรณ์ แต่การเอาชนะนิวรณ์นี่ท่านบรรดาพุทธบริษัท มันชนะนานไม่ได้ ใช่ไหม อย่างสมมุติว่าเราจะนั่งกรรมฐานสักครึ่งชั่วโมง ถ้ามันชนะจริงๆ รวมกันสัก ๕ นาที ก็ถือว่าใช้ได้ อย่างกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก สตินึกว่าเวลานี้เราจะรู้ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าภาวนาว่า "พุทธ" หายใจออกภาวนาว่า "โธ" เป็นต้น แต่ว่าคำภาวนานี่ไม่จำกัดนะญาติโยม เพราะตอนกลางคืนเป็นสุกขวิปัสสโก ตอนกลางวันเป็นอภิญญา

มโนมยิทธิ ก็คืออภิญญา อภิญญานี่ต้องจำกัดคำภาวนา แต่คำภาวนาเขาก็มีหลายอย่างด้วยกัน หลายสิบอย่าง สุดแล้วแต่อาจารย์ไหนจะใช้ ผลที่พึงได้คือได้อภิญญาคือใช้ได้

แต่ตอนกลางคืนเป็นสุกขวิปัสสโก ไม่จำกัดคำภาวนา ใครภาวนาอย่างไหนคล่องแล้ว ว่าอย่างนั้นตามที่คล่องมา ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ถ้ายังไม่ได้ก็ใช้คำว่า "พุทโธ" หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออก นึกว่า "โธ"

ทีนี้เราจะบังคับคิดว่า เราจะทรงคำว่า พุทโธ อยู่ตลอดครึ่งชั่วโมง มันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าภาวนาไป ประเดี๋ยวจิตก็แว่บไปสู่อย่างอื่น ไปหาเรื่องอื่นเข้ามาแทรกใจ เราแพ้นิวรณ์ พอรู้สึกตัวมาเราก็เริ่มต้นใหม่

ขณะใดที่รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก และรู้คำภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เวลานั้นชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ เราชนะนิวรณ์ ขณะใดที่เรื่องอื่นเข้ามาแทรกจิตใจฟุ้งไปตอนนั้น เวลานั้นเราแพ้นิวรณ์ มันก็ต้องแพ้บ้างชนะบ้างเป็นของธรรมดา คนที่จะไม่แพ้นิวรณ์เลยจริงๆ ก็คือพระอรหันต์ เราเป็นพระอรหันต์หรือยัง นึกว่าเป็นแล้ว ลองเป็นสักวันละหน่อยไม่ได้รึ

อย่างที่หลวงพ่อวัดพระบาทตากผ้า ท่านบอกว่า ขณิกนิพพาน ทีแรกฉันอ่านของท่านนึกว่าเอ๊ะ เป็นไปได้หรือ จริงๆ ของท่านเป็นไปได้นะ ขณิกนิพพาน นิพพานแปลว่า ดับ ค่อยๆ ดับอารมณ์วันละ ๒ -๓ นาที หรือ ๑ นาที ก็ตามใจ ดับอารมณ์ไม่นึกเรื่องรัก ไม่นึกเรื่องโลภ ไม่นึกเรื่องความโกรธ หรือไม่นึกเรื่องความหลง เอาจิตจับเฉพาะลมหายใจเข้าออก หรือคำภาวนาประเดี๋ยวก็ใช้ได้ อย่างนี้เรียกว่า "ฝึกนิพพาน"

ทีนี้การที่เราจะเจริญพระกรรมฐาน ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องใช้ปัญญาร่วม มาคราวนี้เอาเฉพาะเรื่องเดียว ๓ วันนี่นะ นัตถิ โลเก อนินทโต คนไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก มีไหมใครไม่ถูกนินทา มีไหมที่นั่งนี่ ยกมือขึ้นซิจะให้สัก ๑๐ บาท รับรองทุกราย แต่เราก็ควรจะภูมิใจ ถ้าเราถูกนินทาเราควรจะภูมิใจนะ ถ้าเราไม่ดี เขาไม่นินทา สังเกตดูคนเลวน่ะ ไม่ค่อยมีใครนินทาใช่ไหม ถ้าเราดีกว่าเขา เขาจะเริ่มนินทาเรา เราก็ภูมิใจได้

แต่ว่าอย่าไปสนใจทั้งคำนินทาและคำสรรเสริญ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระว่า "ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย นินทา ปสังสา เป็นของธรรมดาของชาวโลก ในเมื่อเราเกิดมาในโลก เราเกิดมาแล้ว ก็ต้องถูกนินทา" ไม่ใช่ถูกนินทาเฉพาะมีชีวิตอยู่ ตายเป็นผียังตามนินทาอีกนะ

ก็เป็นอันว่าแม้แต่เราก็ดี ก็ถูกนินทา พระอริยเจ้าทั้งหลายทั้งหมดก็ถูกนินทา พระพุทธเจ้าก็ถูกนินทา วันนี้ก็จะคุยเรื่องพระพุทธเจ้าถูกนินทา ทำใจให้สบายๆนะ มา ๓ วันนี้เอาข้อเดียว

เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือพ่อสอนลูก(เล่มสีชมพูบานเย็น)

นินทากับปัญญา


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์