~~~วิ่งเพื่อสุขภาพที่ “ผิดหลัก” ~~~~
การผิดหลักการของการวิ่งเพื่อสุขภาพเกิดจากความไม่เหมาะสมดังนี้
สภาพร่างกาย : บางคนมีโรคประจำตัวที่ต้องห้ามออกกำลังกายอยู่แล้ว หรือมีความผิดปรกติอยู่เดิมของระบบโครงร่าง รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมากๆ การวิ่งครั้งแรกแม้ใช้เวลาไม่นานหรือระยะทางไม่มากก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้
ในผู้ที่วิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว สภาพร่างกายอาจไม่เหมาะกับการวิ่งในวันหนึ่งวันใดก็ได้ เช่น การเป็นไข้ ท้องเสีย นอนไม่หลับ หรือเกิดการบาดเจ็บจากการวิ่งในวันก่อน การฝืนวิ่งเป็นโอกาสให้เกิดอันตราย
การกำหนดความหนัก ความนาน ความบ่อย : การปฏิบัติโดยความหนักต่ำกว่าที่ควรไม่ทำให้เกิดอันตราย แต่ก็ไม่เป็นผลดี เพราะทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่การวิ่งด้วยความหนัก (ความเร็ว) ที่มากเกินไปอาจทำอันตรายร้ายแรงต่อระบบการไหลเวียนเลือดอย่างเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในผู้ที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป การใช้ความหนักที่เหมาะสมแต่นานมากหรือบ่อยเกินเป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ และกระดูก รวมทั้งการสูญเสียพลังงานของร่างกาย การฝืนปฏิบัติโดยไม่คำนึงถึงสัญญาณอันตรายเป็นเหตุสำคัญของอันตรายร้ายแรง
ท่าวิ่ง : การวิ่งอย่างฝืนธรรมชาติ เช่น พยายามก้าวเท้าให้ยาว หรือพยายามวิ่งตามท่าทางของคนอื่นโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมของตน มักทำให้เกิดความเครียดต่อกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อ และกระดูกมากจนอาจเกิดอันตรายที่แก้ไขได้ยาก
อุปกรณ์ : รองเท้าวิ่งที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดการบาดเจ็บต่อเท้าและข้อเท้า เช่น หนังพอง เล็บขบ เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ เอ็นร้อยหวายอักเสบ และเป็นสาเหตุประกอบของการบาดเจ็บในส่วนที่เหนือขึ้นไป เช่น สันหน้าแข็ง เข่า ต้นขา ข้อสะโพก ไปจนถึงกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง
เสื้อ กางเกง มีความหมายมากในแง่ของความคล่องตัว การระบายความร้อน การเสียดสีต่อผิดกาย หากใช้ไม่เหมาะสมย่อมทำให้เกิดอันตรายได้
เวลาและภูมิอากาศ : เวลาที่ไม่เหมาะสมคือ หลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือหลังจากการใช้แรงกายอย่างอื่นมากมาก่อน เวลาสัมพันธ์กับภูมิอากาศด้วย โดยเฉพาะอุณหภูมิ การวิ่งในขณะอากาศร้อนจัดหรือเมื่อฝนตกอาจเป็นอันตรายได้ง่าย
สถานที่ : พื้นทางวิ่งที่ขรุขระ เป็นหลุมบ่อ เป็นสาเหตุสำคัญยิ่งของการบาดเจ็บต่อฝ่าเท้า ข้อเท้า น่อง หน้าแข้ง เรื่อยไปจนถึงหลังและคอ การวิ่งวนโดยเลี้ยวด้านใดด้านหนึ่งตลอดทำให้เกิดความเครียดบริเวณสะโพก การวิ่งขึ้นที่ชันมากๆทำให้ปวดเข่าได้ง่าย มลภาวะนอกจากเป็นอันตรายต่อการหายใจและการไหลเวียนเลือดแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อจิตใจด้วย
การเพิ่มปริมาณการวิ่ง : ที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มความหนัก (ความเร็ว) การเพิ่มความหนักเร็วเกินไปร่างกายจะปรับตัวไม่ทัน จะเป็นอันตรายได้ทั้งระบบการไหลเวียนเลือดและระบบการเคลื่อนไหวร่างกาย การเพิ่มความนาน ความบ่อย มีอันตรายต่อระบบทั้งสองค่อนข้างน้อยกว่า แต่มีอันตรายมากกว่าด้านการสูญเสียพลังงานและการชดเชยพลังงานที่เสียไป
เมื่อท่านทราบแล้วว่าอันตรายส่วนใหญ่ของการวิ่งจะเกิดเนื่องจากผิดหลักการดังกล่าวข้างต้น การปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องจึงเป็นการป้องกันอันตรายที่ดีที่สุด และในขณะเดียวกันจะทำให้ท่านได้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากที่สุด