~~~แปลกแต่จริง: แมวไม่รับรู้รสหวาน~~~
แมวไม่สนใจน้ำตาลและเครื่องเทศและทุกอย่าง หนึ่งในสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรานี้สนใจเพียงสิ่งเดียวคือเนื้อ
นี่ไม่ใช่แค่สัญชาตญาณของแมวเลี้ยงทุกตัวมีความเป็นนักล่าอยู่ภายใน (เพื่อดักรอจับนกหรือหนูที่วิ่งป่วนเปี้ยน) เท่านั้น แต่เพราะว่าแมวไม่มีความสามารถในการรับรสหวาน ซึ่งต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่นที่ได้รับการศึกษาแล้วในปัจจุบันอีกด้วย
ลิ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่จะมีตัวรับ (receptor) ซึ่งเป็นโปรตีนบนผิวลิ้นที่จะไปจับกับสารที่เข้ามาแล้วกระตุ้นการทำงานของเซลล์ที่ทำให้เกิดการส่งสัญญาณไปยังสมอง มนุษย์มีปุ่มรับรสอยู่ 5 แบบ (บางทีอาจจะ 6 แบบ) คือ เปรี้ยว ขม เค็ม อูมามิ (รสอร่อย) และหวาน (เช่นเดียวกับไขมัน) ตัวรับรสหวานมักจะประกอบไปด้วยโปรตีนที่เกาะกันสองอัน ซึ่งสร้างมาจากยีนสองตัวที่เรียกว่า Tas1r2 และ Tas1r3
ในยามปกติ ยีนทั้งสองจะสร้างโปรตีนทั้งสองขึ้นและเมื่อมีบางสิ่งที่หวานเข้ามาในปากเรา ข่าวก็จะถูกส่งไปยังสมองเนื่องจากโดยส่วนใหญ่แล้ว ความหวานเป็นสัญญาณว่ามีคาร์โบไฮเดรตมาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์กินพืชและสัตว์ที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์อย่างมนุษย์ แต่แมวมีเชื้อสายของสัตว์กินเนื้อและต่างจากสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันเช่นหมีที่กินทั้งพืชและเนื้อสัตว์หรือแพนด้าที่กินพืชเป็นอาหาร แมวจะกินเนื้อเพียงอย่างเดียว
ไม่ว่าผลจากตัวเลือกด้านอาหารหรืออะไรก็ตามแต่ สัตว์กลุ่มแมวทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นสิงโต เสือ หรือแมวเลี้ยงไม่มีกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบของดีเอ็นเอของยีน Tas12r อยู่ 247 คู่เบส ผลก็คือมันไม่สามารถถูกถอดรหัสเพื่อสร้างเป็นโปรตีนที่ถูกต้องได้ มันจึงไม่มีคุณสมบัติที่เรียกว่ายีนได้ (เป็นเพียงสูโดยีน (psuedogene) เท่านั้น) มันจึงทำให้แมวรับรสหวานไม่ได้นั่นเอง "มันไม่สามารถรับรสหวานเหมือนอย่างมนุษย์เราได้" กล่าวโดยโจ แบรนด์ (Joe Brand) นักชีวเคมีและผู้ช่วยผู้อำนวยการแห่งศูนย์ประสาทสัมผัสทางเคมีโมเนลล์ในรัฐฟิลาเดลเฟีย "มันโชคดีที่มีฟันที่ไม่ดีอยู่แล้ว"
แบรนด์และผู้ร่วมงานชื่อเซียะ ลี (Xia Li) ค้นพบยีนปลอมที่เป็นไปตามหลักฐานตามพงศาวดารมาหลายสิบปีว่าแมวไม่สามารถแยกแยะน้ำหวานออกจากน้ำเปล่าได้ แน่นอนว่ายังมีเรื่องในพงศาวดารอีกมากมายที่กล่าวถึงเรื่องนี้ในคนละทิศทางคือ แมวกินไอศกรีม ขนมสายไหม (cotton candy) และมาร์ชมัลโลว์ (marshmallow) "แมวบางตัวอาจจะใช้ตัวรับ (Tas1r3) ในการรับรสหวานที่มีความเข้มข้นสูงก็ได้" แบรนด์พูด "มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และตอนนี้เราก็ยังไม่ทราบแน่ชัดครับ"
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าแมวสามารถรับรสที่คนเรารับรสไม่ได้เช่นสารที่ให้พลังงานแก่เซลล์ที่เรียกว่าอะดีโนซีนไตรฟอสเฟตหรือเอทีพี (adenosine triphosphate, ATP) "มันพบได้ไม่มากในเนื้อ แต่มันก็เป็นสัญญาณบอกว่านั่นคือเนื้อ" แบรนด์กล่าว สัตว์ชนิดอื่นมีตัวรับรสที่แตกต่างกันออกไปมากมายตั้งแต่ไก่ที่ไม่มียีนตัวรับรสหวานไปจนถึงปลาดุก (catfish) ที่สามารถตรวจจับกรดอะมิโนที่มีความเข้มข้นในน้ำน้อยมาก (nanomolar concentration) ได้ "ตัวรับของสัตว์เหล่านี้มีความไวมาก" แบรนด์เน้น "ปลาดุกที่ตรวจจับอาหารเน่าเสียได้ก่อนจะเป็นผู้อยู่รอดครับ"
อย่างไรก็ตาม แมวถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพียงชนิดเดียวที่ไม่มียีนรับรสหวาน แม้แต่ญาติที่ใกล้ชิดในกลุ่มสัตว์กินเนื้อด้วยกันอย่างไฮยีน่า (hyena) และพังพอน (mongoose) ก็มียีนนี้อยู่ และแมวอาจจะไม่มีองค์ประกอบอื่นๆ ของความสามารถในการรับรู้ (และย่อย) น้ำตาลเช่น กลูโคไคเนส (glucokinase) ในตับ ซึ่งเป็นเอ็นไซม์สำคัญที่ควบคุมกระบวนการเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและไม่ให้กลูโคสมีมากจนเกินไป ในเรื่องนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะใส่ข้าวโพดและธัญพืชอื่นลงในอาหารสัตว์ "นี่อาจจะเป็นสาเหตุว่าทำไมแมวเป็นโรคเบาหวานได้" แบรนด์เสนอ "อาหารแมวมีคาร์โบไฮเดรตอยู่ประมาณ 20% ซึ่งมันจะไม่คุ้นเคยและรับมันไม่ไหวในที่สุด" สิ่งที่สัตว์นักล่าชนิดนี้ไม่สามารถรับรสได้อาจจะทำร้ายมันก็ได้ แต่มันก็หมายความได้อีกว่า คุณไม่ต้องกังวลใจว่าเจ้าแมวตัวน้อยของคุณจะขโมยของหวานไปกิน