ดาวเรือง-กล้วยบำบัดสารหนูร่อนพิบูลย์
นักวิจัยมหิดลเผยความสำเร็จครั้งแรกของประเทศ การวิจัยปลูกพืชดูดซึมโลหะหนักปนเปื้อนในดินและน้ำ ทดแทนการใช้สารเคมีบำบัดที่ราคาแพง
โดย ศ.ดร.พรสวรรค์ วิสุทธิวิเศษ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมงาน ศึกษาหาวิธีบำบัดสารโลหะหนักปนเปื้อนในดิน พบว่าพืชบางชนิดมีคุณสมบัติดูดซับสารพิษและโลหะหนัก จึงทดสอบเพื่อให้ได้ชนิดของพืชที่มีความเหมาะสม สำหรับส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกในเชิงพืชเศรษฐกิจท้องถิ่น
ทีมงานเลือกพื้นที่ศึกษาคือ บริเวณเหมืองดีบุกเก่า ต.ร่อนพิบูลย์ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งชาวบ้านมีปัญหาสุขภาพ ตั้งแต่โรคผิวหนังจนถึงมะเร็งผิวหนัง เนื่องจากสารหนูจากเหมืองร่อนพิบูลย์อยู่ในพื้นที่เหมืองดีบุกเก่า ซึ่งมีกากแร่หลงเหลืออยู่ กากเหล่านั้นปลดปล่อยสารหนูออกมาปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ จากการตรวจสอบพบสารหนูปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ในระดับสูงกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกถึง 20 เท่า
ทีมวิจัยคัดเลือกพันธุ์พืช ที่มีประสิทธิภาพดูดซับสารหนูในดินและน้ำมาเก็บไว้ในต้น พบว่า ดาวเรือง กล้วยน้ำว้าและพาร์โลเนีย มีประสิทธิภาพในการดูดสารหนูได้ดีที่สุด
ดาวเรืองสามารถดูดซับสารหนูได้มากถึง 50 พีพีเอ็ม โดยดูดซับไว้ที่ส่วนรากมากสุด ขณะที่ลำต้นและใบมีสารหนูเพียง 30% ของปริมาณสารหนูที่พบในราก และพบสารหนูน้อยมากในดอก
กล้วยน้ำว้าดูดซับสารหนูได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับกล้วยเล็บมือนางและกล้วยไข่ สารพิษจะสะสมที่รากเป็นหลัก ตามมาด้วยต้นและใบ ที่น่าสนใจคือ "ผลกล้วยน้ำว้า" ไม่พบสารหนูตกค้าง
ส่วนต้นพาร์โลเนียนั้น นักวิจัยอธิบายว่า สะสมสารหนูได้ดีในลำต้น แต่เป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารและน้ำสูง ทั้งยังมีปัญหาแมลงรบกวน ทำให้ปลูกยากกว่า อย่างไรก็ตาม หากชุมชนในพื้นที่ศึกษาปลูกพืชดูดซับสารหนูไปเรื่อยๆ สารพิษในดินจะหมดไปในเวลา 68 ปี
โครงการวิจัยปลูกพืชเพื่อดูดซึมสารพิษในดินและน้ำเพิ่งเสร็จสิ้นในเฟสแรก ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาและวิจัยของประเทศเยอรมัน
ต่อไปจะวิจัยเพื่อลดการปนเปื้อนของแคดเมียมในพื้นที่เหมืองสังกะสีเก่า อ.แม่สอด จ.ตาก ชาวบ้านไม่สามารถปลูกข้าว โครงการจะเริ่มในช่วงต้นปี 2552 จากนั้นจะขยายไปพื้นที่ปนเปื้อนสารหนูระดับสูง จ.สุพรรณบุรี, เหมืองทองเก่าที่มีสารพิษปนเปื้อน จ.พิจิตรและจ.เลย และพื้นที่ปนเปื้อนตะกั่ว อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี แต่ละพื้นที่จะต้องศึกษาหาชนิดของพืช ที่เหมาะสมกับสารพิษนั้นๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ