ตรวจ เบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
ตรวจ เบาหวาน ขณะตั้งครรภ์ กันแท้ง เด็กพิการ ตัวใหญ่ เสียชีวิต
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีคุณแม่มือใหม่ เกิดข้อสงสัยสอบถามเข้ามาเรื่องการตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะเจ้าตัวตรวจพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อลูก ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน "X-RAY สุขภาพ" จึงมาพูดคุยกับ ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหา วิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.อภิชาติ อธิบายว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีความเสี่ยงจะเกิดเบาหวานมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากระดับฮอร์โมนในร่างกายสูง จึงจำเป็นต้องตรวจหาเบาหวาน โดยเฉพาะในคนที่มีปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้หญิงอ้วนมีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 มีคนในครอบครัว หรือญาติสายตรงเป็นเบาหวาน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เคยคลอดบุตรแล้วเด็กตัวใหญ่น้ำหนักเกิน 4,000 กรัม เคยมีบุตรแล้วบุตรเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยไม่ทราบสาเหตุ คนที่ตรวจพบระดับน้ำตาลสูงในปัสสาวะ หรือคนที่เคยมีบุตรพิการแต่กำเนิดในครรภ์ที่แล้ว
เหตุผลที่ต้องตรวจเบาหวาน เพราะเบาหวานอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนครรภ์เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อแม่และเด็ก เบาหวานอาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์
เกิดภาวะแท้ง เด็กตัวใหญ่เกินไป ทารกพิการแต่กำเนิด โดยเฉพาะหัวใจพิการ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในครรภ์ระดับน้ำตาลสูง ๆ เมื่อคลอดออกมาภายนอกระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อแรกเกิดอาจทำให้ทารกมีปัญหาการหายใจผิดปกติ มีภาวะขาดออกซิเจน และการที่ทารกตัวใหญ่ น้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้คลอดไม่ได้ จนต้องผ่าตัดคลอด หรืออาจมีปัญหาไหล่ติด ทำให้แขนบาดเจ็บขยับไม่ได้ ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็วตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยจะสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ ปกติเวลามาฝากครรภ์ จะมีการตรวจปัสสาวะทุกครั้ง ถ้าพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะมากกว่า หรือเท่ากับ 2 บวกขึ้นไป ต้องตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงจะตรวจเลือดดูเบาหวานทันที ถ้าตรวจไม่พบ พออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง
การตรวจเบาหวานขณะตั้งครรภ์แตกต่างจากสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นผลจากระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดแตกต่างไปจากสตรีทั่ว ๆ ไป จึงมีวิธีการตรวจคัดกรอง
เริ่มแรกด้วยการดื่มน้ำตาลผง 50 กรัมละลายน้ำ โดยไม่ต้องอดอาหาร หลังจากนั้น 1 ชั่วโมง ก็เจาะเลือดไปตรวจ ถ้าค่าน้ำตาลในเลือดไม่สูงเกินกว่า 140 มิลลิกรัม ถือว่าปกติ แต่ถ้าสูงเกินกว่านี้ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน ต้องไปตรวจวินิจฉัยเฉพาะลงไปอีก โดยก่อนตรวจจะต้องอดอาหาร 6-8 ชั่วโมง จากนั้นให้ดื่มน้ำตาล 100 กรัม เสร็จแล้วเจาะเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดทันที จากนั้นให้ดื่มน้ำตาล 100 กรัมผสมกับน้ำ และเจาะเลือดชั่วโมงที่ 1 ชั่วโมงที่ 2 และชั่วโมงที่ 3 นำผลที่ได้ทั้ง 4 ครั้งมาเปรียบเทียบดู ก่อนดื่มค่าไม่ควรเกิน 95 มิลลิกรัม ชั่วโมงแรกไม่ควรเกิน 180 มิลลิกรัม ชั่วโมงที่ 2 ไม่ควรเกิน 155 มิลลิกรัม และชั่วโมงที่ 3 ไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัม ถ้าค่าที่ออกมาผิดปกติ ตั้งแต่ 2 ค่าใน 4 ค่า จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้วยการควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล ขนมหวาน ผลไม้รสหวาน ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีพอ แพทย์อาจจะต้องฉีดอินซูลิน เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลสูงเกินไป
โดยทั่วไปคนที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้ดี
คือ ตื่นมาเจาะเลือดทันทีโดยที่ ยังไม่รับประทานอะไร ไม่ควรเกิน 90-95 มิลลิกรัม หลังจากรับประทานอาหารแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทั้งมื้อเช้า กลางวัน และเย็น ไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัม เมื่อควบคุมน้ำตาลอยู่ในระดับที่พอใจแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้าน และให้เครื่องมือไปเจาะเลือดเพื่อตรวจดูระดับน้ำตาลด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมเรื่องอาหารไปจนกว่าจะคลอดบุตร ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในกรณีที่แม่มีน้ำตาลสูง ทารกที่คลอดออกมาแพทย์อาจจะต้องเจาะดูระดับน้ำตาลในเลือดทารก ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำต้องให้สารน้ำเกลือแก่เด็กทารกแรกเกิดทันที เพราะเด็กเคยชินกับสภาพน้ำตาลสูง เมื่อคลอดออกมาน้ำตาลต่ำลง จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เด็กมีภาวะขาดน้ำตาลในกระแสเลือดจนเป็นอันตรายได้
ท้ายนี้ขอแนะนำว่า ขณะตั้งครรภ์คุณแม่ทั้งหลายจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำหนักตัวมากจนเกินไป ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน ผลไม้รสหวานจัด และต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดเดิมที่ว่า เมื่อตั้งครรภ์จะต้องบำรุงให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเยอะ ๆ เพราะอาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์โดยไม่รู้ตัว จนส่งผลเสียต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้.