2."ทัมป์ไดรฟ์" เข้ารหัสลายนิ้วมือ
3.Zero-Footprint-PC
4.Meta-Pad "โน้ตบุ๊กไฮบริดจ์" ของค่ายไอบีเอ็ม
โน้ตบุ๊กแห่งอนาคต ฝ่ากระแสสินค้าไอทีขาลง!
ในปี 2552 มีแนวโน้มว่า ตลาดสินค้าคอมพิวเตอร์-ไอที จะหดตัวไม่มากก็น้อยตามสภาพเศรษฐกิจโลกช่วงขาลง
อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์กลุ่ม "โน้ตบุ๊กขนาดเล็ก" หรือ "ซับโน้ตบุ๊ก" ราคาไม่แพงจนเกินไป น่าจะยังคงแหกด่านทำยอดขายได้เป็นเนื้อเป็นหนังเหมือนกับตลอดปี 2551 ที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทต่างๆ เดินหน้าลุยในตลาดนี้เต็มสูบ
แกรี่ เอช. แอนเทส กับ บ๊อบ บริววิน กองบรรณาธิการเว็บไซต์ข่าวสารวงการคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ "คอมพิวเตอร์เวิลด์" เคยเขียนบทความประเมินไว้ว่า
คุณสมบัติ "โน้ตบุ๊กยุคใหม่" หรือ "โน้ตบุ๊กแห่งอนาคต" ซึ่งจะครองใจผู้บริโภคจะมีลักษณะเด่นๆ ประกอบด้วย
1. มาตรฐานความเร็วประมวลผลของโปรเซสเซอร์ จะปรับขึ้นสูงกว่าดิม 2 เท่าตัว ทุกๆ 2 ปี
2. ขนาดหน่วยความจำ "ฮาร์ดดิสก์" จะเล็กลงอย่างน่าตกใจ และเปลี่ยนจากชนิดจานแม่เหล็กมาเป็น Solid State
3. แบตเตอรี่จะต้องจ่ายไฟให้ได้มากจึ้นเรื่อยๆ
4. จอภาพคมชัดกว่าเดิม แต่กินไฟน้อยลง เช่น จอชนิด "OLED" ที่บางเฉียบถึงขนาดม้วนได้
5. รองรับการเชื่อมต่อสัญญาณและเครือข่ายไร้สาย
สำหรับรูปแบบ "การพัฒนา" โน้ตบุ๊กสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กล่าวคือ
1. พัฒนาเพื่อจับตลาดกลุ่มลูกค้าที่ใช้โน้ตบุ๊กเพื่อการทำงาน หรือเพื่อความบันเทิง ทั้งในสำนักงานและที่พัก
โดยฟังก์ชันการทำงาน หรือคุณสมบัติสำคัญๆ ที่จะพบในโน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ เช่น
ตัวเครื่องมีขนาดพอเหมาะ พกพกสะดวก จอขนาดใหญ่พอเหมาะคมชัด และซีพียู หรือหน่วยประมวลผลต้องแรง
2. พัฒนาเพื่อจับกลุ่มลูกค้า "ขาลุย" ชอบท่องเที่ยว หรือเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยๆ
โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ต้องมีความทนทาน แบตเตอรี่จ่ายไฟได้นานๆ ซีพียูจะแรงน้อยหน่อยก็ไม่เป็นไร
3. พัฒนาออกมาในแบบ "โน้ตบุ๊กมือถือ" เช่น พวก "แท็บเล็ตพีซี" ซึ่งเน้นความคล่องตัว เหมาะกับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เวลาลุกขึ้นยืน หรือ เดินไปเดินมา
นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังจะเห็น "โน้ตบุ๊กลูกผสม" หรือ "โน้ตบุ๊กไฮบริดจ์" หน้าตาประหลาดๆ ในท้องตลาดมากขึ้น
เป้าหมายการพัฒนาเพื่อตอบสนอง "ไลฟ์สไตล์" รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ
อาทิ "โน้ตบุ๊กพับเก็บได้" ของค่ายคอมแพ็ค-เอชพี ซึ่งสามารถถอด-กางออกมาเป็น "คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ" (พีซี) ได้ด้วย
หรือสินค้าไอทีแหวกแนว รุ่น "Zero-Footprint-PC" ของบริษัทไซเบอร์เน็ตแมนูแฟ็กเจอริ่ง รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เป็นคอมพิวเตอร์ซ่อนตัวอยู่ใน "คีบอร์ด" หรือแป้นพิมพ์ขนาดเล็กทั่วๆ ไป เพียงแค่ต่อเข้ากับจอภาพก็ใช้งานได้เลยตามปกติ
ตบท้ายด้วยมาตรฐาน "ระบบรักษาความปลอดภัย"
เราจะเห็นอุปกรณ์ส่วนควบจำพวก "ทัมป์ไดรฟ์" ชนิดเข้ารหัสลับด้วยลายนิ้วมือจนชินตา ขณะเดียวกัน "โปรแกรม-ฮาร์ดแวร์" ของระบบรักษาความปลอดภัยก็จะมีให้เลือกหลากหลาย อาทิ ระบบทำลายข้อมูลในฮาร์ดดิสก์อัตโนมัติถ้ากรอกรหัสลับผิดการเข้ารหัสด้วยลายนิ้วมือ และสแกนม่านตารวมถึงการใช้ "คลื่นวิทยุ" ปลดล็อกตัวเครื่อง ซึ่งอุปกรณ์ส่งสัญญาณจะฝังอยู่ในเครื่องประดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแหวน สร้อย กำไล ฯลฯ
แต่ความทันสมัย-ไฮเทคทั้งหมดนี้ ถ้าต้องแลกด้วยราคาที่แพงเกินไปก็อาจเจาะตลาดกลุ่มใหญ่ไม่สำเร็จเช่นกัน!