ใครก็ตามที่มีอาการคันตามง่ามนิ้วมือ หรือคันตามร่างกาย ต้องเกา ๆ ๆ ๆ ๆ จนตัวลาย ถึงขั้นนอนไม่หลับ ระวังเอาไว้ว่า คุณอาจจะเป็นโรคหิดอยู่ก็เป็นได้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หิดเป็นโรคผิวหนังจากตัวไรหิด พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ พบบ่อยในฤดูหนาว คนที่สะอาดก็อาจติดโรคหิดได้ แต่พบบ่อยในเขตยากจนซึ่งมีประชากรหนาแน่น
หิด
โรคหิดติดต่อโดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคหิดโดยตรง แต่บางรายติดต่อจากการใช้เสื้อผ้าหรือเครื่องนอนร่วมกัน โรคหิดยังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
หิดเป็นตัวไรขนาดเล็ก มีขา 4 คู่ วงจรชีวิตของตัวไรหิดจะอยู่บนผิวหนังกำพร้าของมนุษย์ โดยตัวหิดเพศเมียซึ่งมีขนาดยาว 0.3-0.5 มิลลิเมตร เป็นสาเหตุหลักของการเกิดพยาธิสภาพ หิดเพศผู้ซึ่งขนาดเล็กกว่าเพศเมียครึ่งเท่า หลังผสมพันธุ์บนผิวหนัง หิดเพศผู้จะตาย ส่วนเพศเมียจะขุดอุโมงค์ตื้น ๆ ในชั้นหนังกำพร้าเพื่อวางไข่ และฟักเป็นตัวอ่อนภายใน 3-5 วัน ประมาณร้อยละ 90 ตัวอ่อนจะตาย ส่วนตัวที่อยู่รอดจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ภายใน 2 สัปดาห์ ออกจากอุโมงค์เพื่อผสมพันธุ์และกลับไปสร้างอุโมงค์วางไข่ ไรหิดเพศเมียตายภายใน 1-2 เดือน
ในผู้ป่วยภูมิคุ้มกันปกติ พบตัวไรหิดทั่วตัวเพียง 5-15 ตัว แต่ผื่นมีอาการคันรุนแรงกระจายทั่วตัว คันมากในเวลากลางคืน การเกาเป็นวิธีกำจัดไรหิดออกจากผิวหนัง อย่างไรก็ตามไรหิดสามารถมีชีวิตอยู่นอกผิวหนังนาน 72 ชั่วโมง
หลังติดเชื้อหิดในครั้งแรก จะปรากฏอาการภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่ในรายที่เคยเป็นมาก่อน อาการคันจะเกิดรวดเร็วอาจคันภายในชั่วโมง เป็นการแพ้ต่อตัวไร ไข่ และสิ่งขับถ่ายของตัวไร ตัวไรหิดชนิดติดต่อในคนจะไม่ติดต่อไปสู่สัตว์เลี้ยง ส่วนตัวไรของสัตว์เลี้ยงอาจอาศัยในคนได้ในระยะสั้น ๆ ตัวไรหิดไม่บินหรือกระโดด แต่คลานช้า ๆ 2.5 เซนติเมตรต่อนาที ในอุณหภูมิปกติ ไรหิดสามารถสร้างอุโมงค์ได้ภายใน 48 ชั่วโมง ในอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ไรหิดจะหยุดเคลื่อนไหวประมาณว่ามีผู้เป็นโรคหิดทั่วโลก 300 ล้านคนต่อปี การระบาดของโรคพบทุก 30 ปี การระบาดทั่วโลกพบในปี พ.ศ. 2452-2468 พ.ศ. 2479-2492 และ พ.ศ. 2507-2522
ในประเทศพัฒนาโรคหิดพบบ่อยในสถานที่ซึ่งมีคนหนาแน่น เช่น สถานสงเคราะห์คนชรา โรงพยาบาล สถานบำบัด สถานกักกัน และทัณฑสถาน ส่วนในประเทศไทยพบการระบาดในโรงเรียน วัด สถานสงเคราะห์เด็ก และทัณฑสถาน
หิดฝังตัวในชั้นหนังกำพร้าใต้ชั้นหนังขี้ไคลเป็นตุ่มแดง หรือตุ่มใสขนาดเล็ก ถ้าตัวไรหิดมีการเคลื่อนตัวออกไข่ก็จะพบเป็นเส้นทางยาวนูนขึ้น เนื่องจากโรคหิดคันรุนแรงมาก จึงพบรอยแกะเการ่วมด้วย การกระจายของผื่นพบบริเวณซึ่งอบอุ่น เช่น ง่ามนิ้ว ข้อพับมือ รักแร้ รอบหัวนม หน้าท้อง ตะโพก ต้นขา ข้อเท้า อัณฑะ และองคชาติ ผื่นไม่พบบนใบหน้าและหนังศีรษะ ยกเว้นในเด็กเล็กซึ่งมักมีอาการรุนแรง เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย ผื่นคันรุนแรงโดยเฉพาะในเวลากลางคืน ลักษณะอุโมงค์ พบบริเวณซอกนิ้ว ข้อมือ และศอก ในผู้ป่วยซึ่งมีภูมิคุ้มกันต่ำ ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคสมองอาจพบผื่นเป็นขุยหรือสะเก็ดหนาบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศอก เข่า ซอกนิ้วและใต้แผ่นเล็บ บางรายผื่นกระจายทั่วตัว ผื่นอาจคันรุนแรง แต่บางรายไม่มีอาการคัน ในสะเก็ดพบไรหิด ไข่ และตัวอ่อนจำนวนมากอาจสูงเป็นล้านตัว ถ้าวินิจฉัยล่าช้าจะทำให้โรคหิดระบาดในหอผู้ป่วย
แพทย์ผิวหนังจะวินิจฉัยโรคจากอาการผื่นคันรุนแรง คันมากในเวลากลางคืน ลักษณะการกระจายของผื่น ประวัติผื่นในครอบครัว และการขูดขุยพบตัวไร ไข่หรือก้อนขับถ่าย
การหยดน้ำมันบนรอยผื่นก่อนขูดผิวจะช่วยให้มองเห็นรอยอุโมงค์ซึ่งไรหิดกำลังเคลื่อนตัวชัดเจนขึ้น การรักษาโรคหิดจะใช้ยาทาเป็นหลัก คือ โลชั่นเบนซิล เบนโซเอท เบนซีน แกมมา เฮกซ่าคลอไรด์ ขี้ผึ้งกำมะถัน ครีมเพอร์เมธริน หลังรักษาอาการคันอาจรุนแรง และค่อยทุเลาภายใน 4 สัปดาห์ จำเป็นต้องรักษาอาการคันด้วยยาต้านฮีสตามีน และยาทาคอร์ติโคสตีรอยด์ ปัจจุบันมียารับประทานแล้ว หลังการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าอาการยังคงอยู่ควรให้การรักษาซ้ำ การรักษาจะประสบความสำเร็จต้องรักษาผู้อยู่ใกล้ชิด และกำจัดตัวไรซึ่งอาจตกค้างในเสื้อผ้า เครื่องนอน และพื้นห้อง ร่วมด้วย.
นวพรรษ บุญชาญ