เป็นโรคไต ทำไมคัน?
ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ประมาณว่าประชากรโลกมากกว่า 500 ล้านคนเป็นโรคไต ในประเทศไทยก็พบผู้ป่วยโรคไตสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน ที่น่าสนใจคือพบว่าผู้ป่วยโรคไตมีปัญหาเกี่ยวกับโรคผิวหนังบ่อยมาก
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร บอกว่า เมื่อตรวจผิวหนังผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายจะพบว่าร้อยละ 50-100 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติของผิวหนังอย่างน้อยหนึ่งชนิด
ปัญหาผิวหนังที่พบในผู้ป่วยโรคไตแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังในโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไตระยะสุดท้าย เช่น ถ้าโรคไตเกิดจากการเป็นเบาหวานมาก่อน ก็จะพบการเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่เหมือนกับที่พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เช่น มีผื่นที่หน้าแข้ง ซอกคอดำ ถ้าโรคไตสืบเนื่องมาจากการเป็นโรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ก็จะมีอาการทางผิวหนังที่เหมือนกับที่พบในผู้ป่วยเอดส์ เช่น มีเนื้องอกผิวหนังเป็นตุ่มสีม่วง และลิ้นมีสีขาวแลดูคล้ายมีขน
2. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่เนื่องมา จากอาการยูรีเมีย คำว่า ยูรีเมีย เป็นอาการของผู้ป่วยโรคไตวาย ที่มีของเสียจำพวกไนโตรเจนคั่งอยู่ในเลือด ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เฉื่อยชา หรือหมดสติได้ การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังในกลุ่มนี้ที่พบบ่อยได้แก่ อาการคันผิวหนัง และผิวแห้ง
3. การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังที่เนื่องมาจากการเปลี่ยนไต ซึ่งอาจเกิดจากยาที่ต้องใช้ เช่น อาการหน้ากลมเป็นพระจันทร์จากการได้สเตียรอยด์ หรือ อาจเกิดจากภาวะที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถูกกดภูมิต้านทาน จึงทำให้เริม และงูสวัดกำเริบ ติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นฝีหนองง่ายขึ้น ติดเชื้อรา เป็นหิด และเป็นมะเร็งผิวหนังบ่อยขึ้นกว่าคนปกติ
สำหรับอาการคันผิวหนังในผู้ป่วยโรคไตนั้นพบได้บ่อยมาก กล่าวคือ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีอาการคันอย่างมีนัยสำคัญ ถึงร้อยละ 15-49 และผู้ป่วยโรคไตที่ต้องล้างไต มีอาการคันร้อยละ 50-90 อาการคันอาจเป็นช่วง ๆ หรือคงที่ เป็นเฉพาะที่ หรือเป็นทั่วร่างกาย คันน้อยจนถึงคันมาก
เมื่ออาการคันเป็นเฉพาะที่มักเป็นเด่นชัดที่แขนและหลังด้านบน อาการคันส่งผลเสียต่อการนอนหลับและสุขภาพจิตของผู้ป่วยได้บ่อย ผู้ป่วยมักเกาจนเกิดรอยแกะเกาทำให้ผิวหนังมีการติดเชื้อตามมาได้ง่าย เกิดตุ่มคันนูนหนา และผิวหนังหนาตัวเป็นเปลือกไม้ สาเหตุของอาการคันเชื่อว่าอาจเกิดจาก ผิวแห้ง ร่างกายขจัดสารที่ก่ออาการคันออกทางผิวหนังได้น้อยลง ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติจึงมีแคลเซียม ฟอสเฟต และฮีสตามีนในเลือดสูงขึ้น
การรักษาอาการคันในผู้ที่เป็นโรคไตนั้น ได้แก่ การใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นเพื่อลดผิวแห้ง เพิ่มประสิทธิภาพของการฟอกไต ปรับระดับของแคลเซียม ฟอสเฟต ให้ปกติ ในบางรายการใช้ยาแก้แพ้กลุ่มที่กินแล้วง่วง และการอบเซาน่าอาจลดอาการคันลงได้ชั่วคราว ในรายที่เป็นมากแพทย์อาจพิจารณาใช้การฉายแสงรังสียูวีบี และใช้การผ่าตัดต่อมพาราไทรอยด์ออก.