เจ็บหน้าอกอย่าเย็นใจ

เจ็บหน้าอกอย่าเย็นใจ


อาการเจ็บแน่นหน้าอกไม่เพียงแต่เป็นสัญญาณเบื้องต้นสำหรับโรคหลอดเลือดตีบตันอันก่อให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างรุนแรง แต่ยังเป็นอาการเริ่มแรกของโรคที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตอีกหลายโรค อาทิ เช่น โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด (Aortic dissection) และโรคลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่ขั้วปอด (pulmonary embolism) และอื่นๆ

      ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากกว่า 60% นั่นหมายถึงถ้ามีคนไข้เข้ามา 2 คน จะมีมากกว่า 1 คน ที่ต้องเสียชีวิต (มากกว่า 1 คน อาจหมายถึง คนกว่าๆ คือ 1 คนเสียชีวิต อีกหนึ่งคนอาจเหลือแค่ครึ่งคน) ถ้าให้การวินิจฉัยไม่ถูกต้อง และการรักษาไม่ทันท่วงที

      แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าเจ็บหน้าอกแล้วจะต้องเป็นโรคดังกล่าวเสมอไป ในทางกลับกัน การเจ็บหน้าอกก็ยังสามารถเกิดจากโรคอื่นๆ ที่ไม่ได้มาจากหัวใจ เช่น โรคปอด โรคของกล้ามเนื้อ และกระดูกอ่อน, โรคของทางเดินอาหาร โรค panic และอื่นๆ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะวินิจฉัยแยกโรคจากอาการเจ็บอกเพียงอย่างเดียว

      การวินิจฉัยแยกโรคสำหรับผู้ป่วยเจ็บหน้าอก ต้องอาศัยทั้งความรวดเร็ว และความแม่นยำ เพราะเวลาทุกนาที หมายถึง การอยู่รอดของกล้ามเนื้อหัวใจในโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) ยิ่งวินิจฉัยได้เร็ว ก็ยิ่งเปิดเส้นเลือดได้เร็ว ยิ่งเปิดเส้นเลือดได้เร็วก็ยิ่งรักษากล้ามเนื้อหัวใจไว้ได้มาก

      ถ้ายิ่งช้าจำนวนประชากรกล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสียชีวิตมากขึ้น จำนวนกล้ามเนื้อหัวใจที่รักษาไว้ได้จะสัมพันธ์กับอัตราการมีชีวิตอยู่อย่างชัดเจน

      จากหลักฐานการวิจัยในต่างประเทศพบว่า ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันเฉียบพลัน (Acute ST- EMI) ถ้าได้รับการเปิดเส้นเลือดภายใน 3 ชั่วโมง ผลการรักษาจะดีมาก แต่ถ้าหลอดเลือดอุดตันเกิน 12 ชั่วโมง การให้ยาละลายลิ่มเลือดจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป นั่นหมายความว่า ถ้าคุณมาพบแพทย์หลังจากเจ็บแน่นหน้าอกเกิน 12 ชั่วโมง หรือแพทย์วินิจฉัยไม่ได้ภายใน 12 ชั่วโมง กล้ามเนื้อหัวใจก็จะถูกทำลายถาวร แบบ "กู่ไม่กลับ" ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม

     ถ้าคุณได้รับการเปิดเส้นเลือดไม่ว่าจะด้วยยาหรือด้วยการใช้ balloon ขยาย ถ้าช้ากว่า 3 ชั่วโมง ผลการรักษาก็อาจจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่เวลาภาษาอังกฤษเรียกว่า Golden Period คือ "โอกาสทอง"

     ถ้าคุณพลาดโอกาสนี้ไปแล้ว ก็จะไม่มีโอกาสอีกต่อไป สำคัญที่สุด คือ ตัวคุณเอง และแพทย์ผู้รักษาเป็นท่านแรก จะต้องรวดเร็วทันการณ์ นี่เป็นที่มาว่าทำไมโรงพยาบาลบางแห่งถึงต้องมี ศูนย์พิเศษสำหรับผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกโดยเฉพาะ

     ศูนย์พิเศษดังกล่าว มีวัตถุประสงค์อยู่ 2 อย่างคือ ประการแรกให้การวินิจฉัย และการรักษาโรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ที่อันตรายถึงชีวิตให้ทันเวลา ทันกับ Golden Period ของแต่ละโรค โดยพบกับทีมแพทย์ และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะ

    ประการที่สองคือ ให้การวินิจฉัยแยกโรค และรักษาผู้ป่วย เจ็บหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว ผู้ป่วยกลับบ้านได้เร็วอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ต้องมากังวลว่า ตัวเองเป็นโรคหัวใจหรือไม่เป็นกันแน่

      ผู้ป่วยที่เจ็บหน้าอกขึ้นมาอย่างเฉียบพลันทุกท่านจะถูกส่งเข้ามาที่ศูนย์พิเศษเพื่อพบแพทย์โรคหัวใจทันที โดยไม่ต้องรอคิว แพทย์ พยาบาล และทีมงานผู้เชี่ยวชาญจะให้การดูแลเบื้องต้นอย่างเป็นระบบ ถ้าสงสัยว่าในโรคหัวใจ หรือโรคอันตรายอื่นๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

ที่มา : พ.ญ.ธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.ปิยะเวท

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์