เมื่อลูกพิการทาง สติปัญญา
ความรักอันไร้เงื่อนไขของพ่อแม่นั้น ไม่ว่าลูกของตนจะออกมารูปร่างหน้าตาอย่างไร หรือมีสภาวะที่ผิดปกติแตกต่างจากบุคคลทั่วไปก็ตามที พ่อแม่ก็จะยังรักลูกเสมอ และจะยิ่งเป็นห่วงมากขึ้นไปอีก สำหรับพ่อแม่ที่มีบุตรหลานพิการทางสติปัญญา
หลายครอบครัวที่มีบุตรหลานพิการทางสติ ปัญญา จึงมีความรู้สึกเหมือนต้องแบกโลกทั้งใบเอาไว้ เช่นเดียวกับ รองศาสตราจารย์ทิพวรรณ สีจันทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาเรื่อง “ครอบครัวที่มีบุคคลพิการทางสติปัญญา” จัดโดยเครือข่ายองค์กรทำงานและนักวิชาการด้านครอบครัว กล่าวว่า เธอเคยคิดจะฆ่าตัวตายมาแล้ว เนื่องจากเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัสในการดูแลลูกสาวซึ่งมีความพิการทางสติปัญญา และยังมีความพิการด้านอื่นๆ ประกอบด้วย
แต่สิ่งที่อาจารย์ทิพวรรณทำคือ การเปลี่ยนความคิด มองโลกในแง่บวก แม้จะเป็นเรื่องยากก็ตามที แต่เพราะความรักที่เธอมีให้กับลูก ทุกอย่างจึงผ่านพ้นไปด้วยดี ปัจจุบันเธอพร้อมยิ้มรับปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำกับครอบครัวอื่นๆ ที่มีปัญหาบุตรหลานพิการทางสติปัญญาด้วย
“บางคนมีความคิดว่า ตั้งแต่ลูกคนนี้เกิดมาชีวิตไม่เคยมีความสุขเลย เพราะมีลูกปัญญาอ่อน ทั้งๆที่เขารักลูกมาก ทำให้เขาทุ่มเททั้งชีวิตไปที่ลูก จนลืมดูแลตนเอง พ่อแม่ เครียดโดยไม่รู้ตัวและมีปัญหาสุขภาพจิต เมื่อเด็กอยู่ในสภาวะเกรี้ยวกราด กรีดร้อง พ่อแม่ก็ควบคุมตัวเองไม่ได้ ลงมือทุบตีลูก ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ดังนั้น การดูแลเด็กที่พิการทางสติปัญญาจึงต้องดูแลพ่อแม่ด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ครอบครัวอยู่ในภาวะวิกฤติ”
สิ่งสำคัญในการดูแลเด็กพิการทางสติปัญญานั้น ต้องทำร่วมกันทั้งครอบครัว เพื่อที่จะได้ช่วยพัฒนาลูกไปพร้อมๆ กัน และครอบครัวต้องทำใจยอมรับว่า ความสุขเต็มที่ของครอบครัวจะได้แค่ความสุขระดับปานกลางของคนทั่วไป จึงต้องเริ่มต้นจากการคิดว่าจะ “อยู่ให้ได้” ก่อน จากนั้นค่อยคิดว่าจะ “อยู่ให้ดี” โดย ต้องมีความ “ยืดหยุ่น” ในการพัฒนาลูก แต่ต้องไม่ “หย่อนยาน”