นักวิจัยมหาวิทยาลัยฮินดู พาราณสี พบวิธีกำจัดถุงพลาสติก ที่กำลังเป็นขยะเกลื่อนกลาดอยู่ตามหลายชาติในขณะนี้ ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ด้วยการนำไปใช้ทำถนนที่ทนแดด ทนน้ำและคงทนถาวร
ศาสตราจารย์วิชาเคมีของมหาวิทยาลัย อาจารย์ ราม อัดหาร์ สิงห์ กล่าวแจ้งว่า เราสังเกตพบในการวิจัยว่า ถุงพลาสติกจะช่วยสร้างความคงทนให้กับถนนได้อย่างมหาศาล โดยกำลังจะไปขอจดสิทธิบัตรไว้อยู่
"ในการวิจัย เรานำเอาถุงพลาสติกคลุกกับน้ำมันดินแล้วไปทำให้ร้อนด้วยเครื่อง แล้วจึงนำไปผสมกับเศษหินและวัสดุอื่น สำหรับการสร้างถนน ปรากฏว่าได้ผลดี"
เท่าที่เคยก่อสร้างกันมา ถนนที่สร้างด้วยน้ำมันดินและหินจะทรุดลงเร็วเมื่อโดนน้ำเข้าไปขัง เนื่องจากน้ำมันดินเป็นอินทรีย์สาร ไม่อาจจะเข้ากับหินซึ่งเป็นอนินทรีย์สารได้ดี พอถูกน้ำขังก็จะแตกร้าวและเกิดเป็นหลุมเป็นบ่อ
อาจารย์สิงห์อธิบายว่า "เมื่อถุงพลาสติกอันเป็นอินทรีย์สารตามธรรมชาติโดนความร้อน ก็จะกลายเป็นชั้นเคลือบหินเอาไว้ หินซึ่งเป็นอนินทรีย์สาร เมื่อถูกอินทรีย์สารหุ้มห่อเอาไว้ ก็จะคลุกกับน้ำมันดินเข้ากันได้ดี"
นักวิจัยช่วยอธิบายวิธีการเสริมว่า การนำเอาถุงพลาสติก น้ำมันดินกับเศษหินมาคลุกเข้าด้วยกันนั้น จะต้องมีสัดส่วนเฉพาะ และเมื่อไปทำให้มันร้อนอุณหภูมิสูงระหว่าง 120 - 130 องศาเซลเซียส ถุงพลาสติกบาง ๆ ก็จะก่อตัวเป็นชั้นเหนือเศษหิน และจะป้องกันถนนไม่ให้น้ำซึมลงไป ไม่ทำให้เกิดเป็นร่องให้น้ำลงไปขังได้