โรคตาขี้เกียจ ตัวร้ายที่ต้องกำจัด

โรคตาขี้เกียจ ตัวร้ายที่ต้องกำจัด


ดวงตา คือประตูแห่งการเรียนรู้โลกกว้าง เด็กปกติสามารถมองเห็นได้ตั้งแต่แรกเกิด พัฒนาการทางสมอง การเรียนรู้ หรือพัฒนาการทางด้านร่างกายอื่น ๆ เช่น การคว่ำตัว คลาน นั่ง เดิน ต้องอาศัยการมองเห็นเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ดวงตายังเป็นหน้าต่างของหัวใจ ความรู้สึกยินดีหรือไม่เป็นที่สบอารมณ์ก็ทำให้คนข้างเคียงสามารถรับรู้ได้จากการมองตา ทั้งนี้ ดวงตายังเป็นหน้าต่างของสมอง เนื่องจากโรคของสมองบางอย่างสามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้นได้โดยการมองผ่านดวงตา เมื่อดวงตามีความ สำคัญมากมายเช่นนี้ จึงควรมาสำรวจดูดวงตาของเราและคน  ใกล้ชิดว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กซึ่ง  ยังไม่สามารถสื่อสารให้ทราบได้ว่าตาของตัวเองมีความผิดปกติ แต่ปัญหาเกี่ยวกับตาบางอย่างถ้าเรารู้ได้เร็ว ก็สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ เช่น “โรคตาขี้เกียจ”
 
โรคตาขี้เกียจ คืออะไร?
 
ตาขี้เกียจ คือ ภาวะที่การมองเห็นไม่เท่าปกติ หมายถึงตาข้างหนึ่ง ไม่ได้ใช้มองอันเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ การตรวจหาสาเหตุสามารถทำได้โดยการวัดความสามารถในการมองเห็น เด็กจะต้องได้รับการวัดสายตาและสวมแว่นตาก่อน แต่สำหรับในรายที่จำเป็นต้องใส่แว่น อาจพบว่าเป็นตาขี้เกียจข้างเดียวหรือสองข้างได้ โดยที่ไม่พบความผิดปกติใด ๆ ในดวงตาและเส้นประสาทตา
 
ตาขี้เกียจพบได้บ่อยแค่ไหน?
 
พบได้ประมาณร้อยละ 2 ของประชากร หากคิดสัดส่วนประชากรไทย 60 ล้านคน จะมีคนเป็นตาขี้เกียจได้ถึงหนึ่งล้านสองแสนคน นับว่าไม่น้อยเลยทีเดียว แต่คนเราอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหามากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะเป็นข้างเดียว และคิดว่ายังมีตาอีกข้างที่มองเห็นได้ดี สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติ โดยไม่ทราบว่าถ้าคนเราสามารถใช้ตาทั้งสองข้างพร้อม ๆ กันจะชัดเท่า ๆ กัน จึงจะทำให้สามารถ มองเห็นภาพ มิติ หรือกะระยะลึกตื้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ลองปิดตาหนึ่งข้างแล้วเดินลงบันได อาจต้องเกาะราวไว้แน่น ๆ เพราะไม่สามารถกะความลึกของบันไดขั้นต่อ ๆ ไปได้
 
สาเหตุใดทำให้เกิดตาขี้เกียจ?
 
1.โรคตาเหล่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการตาขี้เกียจมากที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดตาเหล่เข้าตั้งแต่กำเนิดหรือภายในหกเดือนแรกเกิด เมื่อใดที่เด็กเริ่มมีตาเหล่เข้า สมองก็จะสั่งการให้ตาข้างที่เหล่มองไม่เห็น เวลามองสองข้างพร้อม ๆ กัน มิฉะนั้นภาพซ้อนที่เกิดขึ้นจากตาเหล่จะรบกวนการดำเนินชีวิตของเขา เมื่อสมองสั่งให้มองไม่เห็นก็จะไม่มีการพัฒนาทางการมองเกิดขึ้น ตาข้างนั้นก็จะขี้เกียจไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมองไม่เห็นตลอด เมื่อเราปิดตาข้างที่ดี เอาข้างที่เหล่มามอง เด็กก็ยังสามารถมองเห็นได้ แต่จะไม่ดีเท่าตาปกติ
 
เด็กที่เป็นตาเหล่เข้าตั้งแต่เกิดทุกคน ไม่จำเป็นต้องมีตาขี้เกียจเหมือนกันหมด เนื่องจากบางคนตาอาจสลับกันเหล่ เดี๋ยวเหล่ตาซ้ายใช้ตาขวามอง เดี๋ยวเหล่ตาขวาใช้ตาซ้ายมอง ซึ่งจะทำให้สมองได้รับการพัฒนาทางการมองเห็นของตาทั้งสองข้างไปด้วยกัน ก็จะไม่มีปัญหาตาขี้เกียจ ดังนั้นเมื่อบุตรหลานหรือคนใกล้ชิดมีภาวะตาเหล่เข้าชนิดนี้ควรพาไปพบจักษุแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ การรักษาด้วยการผ่าตัดให้ตาตรงได้ก่อนอายุ    2 ขวบ จะทำให้เด็กมีโอกาสเห็นภาพสามมิติอย่างหยาบ ๆ และพอกะระยะได้ ถึงแม้จะไม่ดีเท่าคนปกติก็ตาม ในขณะที่การผ่าตัดหลังอายุ 2 ขวบ เด็กจะมองทีละตา ทำให้สูญเสียความสามารถดังกล่าวไป
 
2.โรคสายตาสั้น ยาว หรือเอียงสองข้างไม่เท่ากัน ถ้าสายตาทั้งสองข้างต่างกันจนทำให้ตาข้างหนึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ชัดในทุกระยะที่มอง ตาข้างนั้นก็จะไม่มีพัฒนาการเกิดขึ้น ความแตกต่างของความสั้น ยาว เอียง ก็มีผลต่อความรุนแรงของภาวะตาขี้เกียจ ยิ่งต่างกันมากก็ยิ่งขี้เกียจมาก
  
3.โรคสายตาสั้น ยาว หรือเอียงสองข้างมากพอ ๆ กัน เห็นไม่ชัดทั้งสองข้างในทุกระยะการใช้งาน ตาทั้งสองข้างจะขี้เกียจทั้งคู่
 
4.โรคที่ทำให้แสงผ่านเข้าในตาได้น้อย เช่น กระจกตาดำขุ่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตกมากจนปิดรูม่านตา โรค เหล่านี้อาจเกิดขึ้นในตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้ ทำให้ภาพที่ไปตกบริเวณจอประสาทตาไม่  ชัดและเป็นตาขี้เกียจขึ้นมา โดยเฉพาะในเด็กที่เป็นต้อกระจกตั้งแต่เกิด ตาขุ่นขาวทึบจนแสงไม่สามารถผ่านเข้าในตาได้ ต้องรีบทำการผ่าตัดลอกต้อออกภายในสองเดือนแรกที่เกิด มิฉะนั้น ถึงแม้ผ่าตัดให้ดีอย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขภาวะตาขี้เกียจที่รุนแรงได้
 
ตาขี้เกียจสามารถรักษาได้หรือไม่อย่างไร?
 
เราสามารถรักษาตาให้หายขี้เกียจได้ แต่จะได้ผลดีควรรักษาก่อนการมองเห็นจะพัฒนาเต็มที่หรือก่อนอายุ 8 ขวบ ส่วนขั้นตอนในการรักษามีดังนี้
 
1. ถ้าพบว่ามีสาเหตุที่สามารถผ่าตัดได้ก็ให้รีบทำก่อน เช่น ต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นในลูกตา หนังตาตก แล้วค่อยมากระตุ้นการมองเห็นโดยการปิดตาในภายหลัง
 
2. ถ้าวัดแว่นสายตาแล้ว มีสายตาสั้น ยาว เอียง ที่น่าจะเป็นสาเหตุของตาขี้เกียจ ก็ให้ใส่แว่นไปก่อน แล้วสายตาก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง ถ้าใส่แว่นเต็มที่แล้วอย่างน้อย 6 เดือนยังขี้เกียจอยู่ ก็ให้กระตุ้นการมองเห็นโดยการปิดตาข้างที่ดี
 
3. ถ้ามีตาเขและตาขี้เกียจ ให้ปิดตาข้างที่ดี กระตุ้นใช้ตาข้างที่ขี้เกียจ ถ้าขี้เกียจมาก ให้ปิดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง ถ้าขี้เกียจน้อยก็ปิดวันละ 2 ชั่วโมง ปิดจนกว่าสายตาสองข้าง   จะเท่ากัน
 
อนึ่ง การปิดตากระตุ้นการมองเห็นควรให้เด็กมีกิจกรรมที่ใช้สายตา ไม่ใช่ปิดตาแล้วแอบนอนหลับ ต้องมีคนช่วยดูแล การรักษาภาวะตาขี้เกียจทำได้ไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็ก ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครูที่โรงเรียน และถึงแม้ตาขี้เกียจจะรักษาได้ แต่ถ้าไม่ทราบว่ามีภาวะนี้ก็อาจสายเกินแก้ จึงควรพาบุตรหลานของท่านไปรับการตรวจเช็กดวงตา วัดสายตา เมื่อสงสัยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ก่อนเข้าโรงเรียน.



รศ.พญ.อภัทรสา เล็กสกุล
หัวหน้าหน่วยโรคตาเด็ก ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์