บร็อกโคลี่งอกมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ผลวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานบร็อกโคลี่ที่เพิ่งเริ่มงอก หรือต้นอ่อนบร็อกโคลี่ ช่วยลดแบคทีเรีย "เฮลิโคแบคเทอร์ไพโลรี" หนึ่งในต้นเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบและมะเร็งกระเพาะอาหาร
ศูนย์วิจัยป้องกันมะเร็ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ทดลองกับชาวญี่ปุ่น 50 คน กลุ่มหนึ่งรับประทานเมล็ดบร็อกโคลี่งอกวันละ 2.5 ออนซ์ (75 กรัม) เมล็ดดังกล่าวมีสารซัลโฟราเฟนที่เคยมีงานวิจัยพบว่าทำหน้าที่เป็นยาปฏิชีวนะ อีกกลุ่มรับประทานต้นอ่อน "อัลฟัลฟา" ซึ่งไม่มีสารซัลโฟราเฟน
ภายหลังจากรับประทานไปนาน 2 เดือนผลพบว่า อุจจาระของกลุ่มที่รับประทานเมล็ดบร็อกโคลี่งอกมีค่า "เอชพีเอสเอ" ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเทอร์ไพโลรีลดลงถึงร้อยละ 40
แต่หลังจากหยุดรับประทานไป 8 สัปดาห์ปริมาณเอชพีเอสเอกลับไปเท่าระดับเดิม แสดงว่าเมล็ดบร็อกโคลี่งอกช่วยลดแต่ไม่สามารถขจัดเชื้อแบคทีเรียนี้ได้ ส่วนกลุ่มที่รับประทานเมล็ดอัลฟัลฟางอกไม่มีความเปลี่ยนแปลง "การติดเชื้อลดลงบ่งชี้ว่าโอกาสที่จะเกิดกระเพาะอาหารอักเสบและมะเร็งกระเพาะอาหารน่าจะลดลงด้วย" ผลวิจัยระบุ
ด้านนักวิจัยของศูนย์วิจัยมะเร็งอังกฤษชี้ว่า เชื้อเฮลิโคแบคเทอร์ไพโลรีทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารก็จริง แต่มีผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวเพียง 3 ใน 100 คนเท่านั้นที่ลุกลามไปถึงขั้นร้ายแรง แสดงว่ามีปัจจัยอื่นที่ทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร จึงยังไม่สามารถสรุปได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการรับประทานเมล็ดบร็อกโคลี่งอกช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร