รับมือ สุขภาพเท้า จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน

รับมือ "สุขภาพเท้า" จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน


นายแพทย์สุมนัส บุณยะรัตเวช ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายความสัมพันธ์ของโรคเท้ากับฤดูกาล ว่า “สำหรับเมืองไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้สภาพผิวหนังของคนไทยมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเช่นนี้ ทำให้มีเหงื่อออกเยอะ ซึ่งคนไข้ส่วนหนึ่งจะมาพบหมอด้วยโรคเหงื่อออกมากอย่างผิดปกติ หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Hyperhidrosis ซึ่งมักเกิดขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า”

  
“นอกจากน่ารำคาญใจแล้ว เหงื่อที่ออกมากๆ ในฤดูร้อน ยังตามมาด้วยความชื้นในฤดูฝน ซึ่งความชื้นที่พูดถึงนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมในการเติบโตของพวกเชื้อโรค และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคที่ผิวหนังนั่นเอง”
 

โรคเท้าเหม็น (Pitted Karatolysis)

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ 90 คือ เท้ามีกลิ่นเหม็น ส่วนอาการรองลงมาที่พบร้อยละ 70 คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือ ร้อยละ 8

  
นอกจากการมีเหงื่อออกเท้ามากจนเกิดความอับชื้นในหน้าร้อนแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ยังเกิดจากการใส่ถุงเท้าและรองเท้าอบอยู่ทั้งวัน รวมถึงการไม่หมั่นทำความสะอาดเท้าและรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้องลุยน้ำท่วมขังในหน้าฝน จึงส่งผลให้เกิดกลิ่นขึ้นได้เช่นกัน

  
ลักษณะอาการของโรคเท้าเหม็นคือมีหลุมเปื่อยเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ มักพบหลุมเหล่านี้บริเวณที่ต้องรับน้ำหนักและง่ามนิ้วเท้า ถ้าขูดผิวหนังที่มีอาการและนำไปย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียเป็นสีน้ำเงิน แต่โดยทั่วไปโรคนี้ดูจากลักษณะภายนอกก็บอกได้


รับมือ สุขภาพเท้า จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน


โรคเชื้อราที่เท้า (Tinea Pedis)

คำว่า Tinea Pedis หรือชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อโรคที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะที่เท้า ซอกนิ้วเท้า และเล็บเท้า แม้บางครั้งโรคผิวหนังที่ว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเชื้อราอย่างเดียว แต่เพราะมีเชื้อแบคทีเรียมาร่วมด้วย

  
ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อราที่เท้าคือความชื้นและความเปียก ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนอบอ้าว และฤดูฝนที่มีฝนตกน้ำท่วมขัง คนที่ต้องลุยน้ำท่วมหรือเดินเท้าเปล่าตามพื้นดินแฉะๆ จะได้รับเชื้อโดยตรง อย่างอาชีพเกษตรกร

  
รวมถึงในกลุ่มอาชีพที่ต้องสวมรองเท้าทำงานทั้งวัน เพราะรองเท้าทำให้เกิดความอับชื้น และกลายเป็นบ่อเกิดของเชื้อรา ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนสูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น คนไข้โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดตีบ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่เท้า รวมถึงผู้มีปัญหากระดูกเท้าผิดรูป เป็นต้น

  
คุณหมอสุมนัสอธิบายลักษณะอาการและความเข้าใจผิดของโรคเชื้อราที่เท้าให้ฟังว่า “ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นมีได้หลายแบบ ได้แก่ ผื่นขาวยุ่ยที่ง่ามเท้า ตุ่มน้ำพองที่ฝ่าเท้า หรือฝ่าเท้าแดงมากจนเป็นขุย อาจมีโรคเชื้อราที่เล็บเท้าร่วมด้วย ซึ่งมีอาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น ใต้เล็บมีลักษณะหนา มีการหลุดร่อนระหว่างเล็บกับฐานเล็บ เล็บอาจมีการผุกร่อน หรือเปลี่ยนสีเช่นเป็นสีขุ่นขาวได้”

  
คุณหมอยังย้ำว่า “โรคเชื้อราที่เท้าเกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด แต่ที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อยีสต์แคนดิดา เชื้อกลาก และเชื้อกลากเทียม การสังเกตอาการของโรคดังกล่าวจึงทำได้ค่อนข้างยาก แม้กระทั่งหมอผิวหนังที่ชำนาญยังอาจดูผิดพลาดได้ ทางที่ดีจึงควรได้รับการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการหรือแล็บ โดยการขูดหรือการเพาะเชื้อจากผู้เชี่ยวชาญ จากประสบการณ์ของผมพบว่า คนส่วนใหญ่เมื่อมีอาการผิดปกติที่เท้ามักคิดว่าเป็นโรคเชื้อราที่เท้าไว้ก่อน โดยที่ความจริงโรคที่เป็นอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อรา และหลายคนมักซื้อยามาใช้เองแบบผิดๆ ถูกๆ นอกจากโรคไม่หายแล้ว ยังบดบังรอยโรคเดิม เมื่อมาหาหมอก็ทำให้การวินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น”

  
อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีคงต้องส่งขูดตรวจผิวหนังและเพาะเชื้อดู เพราะเมื่อติดเชื้อราแล้วมีโอกาสเกิดโรคซ้ำๆ ซึ่งคุณหมอย้ำว่า “ถึงแม้จะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดี แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด เชื้อราก็จะลุกลามขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ อยู่เป็นประจำ การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ หากมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง แม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย”


โรคจากอุบัติเหตุและภยันตรายที่เกิดกับเท้า

ไม่ว่าจะเป็นการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ หรือสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ ที่มักหนีน้ำมาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ตลอดจนอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง เช่น เตะเสี้ยนไม้ เหยียบตะปู หรือเหยียบเศษแก้วจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากจะเกิดบาดแผลขึ้นที่เท้าแล้ว อาจเกิดการติดเชื้อบาดทะยัก และมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องลุยน้ำท่วมขังในหน้าฝนค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจากชีวจิตดอทคอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์