อาหารเพื่อวันนั้นของเดือน
PMS (Premenstrual Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนการมีประจำเดือน อย่างเช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เป็นตะคริว อ่อนเพลีย หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย เป็นต้น
เมื่อใกล้ถึงวันนั้นของเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีอาการดังกล่าวมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้ป้องกันหรืออย่างน้อยที่ก็บรรเทาได้หาก "เลือก" หรือ "เลี่ยง" การรับประทานอาหารบางประเภทในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน
แมงกานีส นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบว่าแมงกานีสช่วยให้การมีประจำเดือนดำเนินไปอย่างปกติ ช่วงที่มีประจำเดือนจึงควรรับประทานอาหารที่มีแมงกานีสได้แก่ ธัญพืช ถั่ว ผัก และผลไม้โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับปะรด ชาแม้จะเป็นอาหารที่มีแมงกานีสเช่นกัน แต่ก็มีกาเฟอีนซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไม่สบายเนื้อไม่สบายตัวได้
แคลเซียม ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากที่เคยรับประทานอยู่เป็นประจำ เช่น ตับ ปลาตัวเล็กตัวน้อย กะปิ กุ้ง ผักใบเขียวเช่นคะน้า เพราะผลวิจัยพบว่า แคลเซียมช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการมีประจำเดือน เช่น ปวดท้อง ปวดหลัง หงุดหงิด วิตกกังวล ซึมเศร้าอย่างเห็นได้ชัด
คาร์โบไฮเดรต เวลาปกติผู้หญิงอาจไม่สนใจอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตมากนัก แต่ช่วงมีประจำเดือน คาร์โบไฮเดรตคืออาหารที่ช่วยลดผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอารมณ์ลงอย่างได้ผล ผลการวิจัยจากศูนย์ศึกษาวิจัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้หญิงที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตในช่วงดังกล่าวช่วยลดอาการหงุดหงิด เครียด อารมณ์สีย รวมถึงอาการอ่อนเพลียอย่างเห็นได้ชัด เพราะคาร์โบไฮเดรตช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซอโรโทนินซึ่งทำให้อารมณ์ดี มีจิตใจแจ่มใสขึ้น ถ้ากลัวว่าการรับประทานคาร์โบไฮเดรตในช่วงเวลามีประจำเดือนจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นก็ควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮดรตที่มีคุณภาพ เช่น ธัญพืชหรือข้าวกล้อง เป็นต้น
หลีกเลี่ยง
กาเฟอีน ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิงจีนที่ดื่มกาแฟวันละหนึ่งถ้วยครึ่งถึงสี่ถ้วย มีอาการต่างๆ ทั้งทางร่างกายและอารมณ์ก่อนการมีประจำเดือนมากกว่าผู้ที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ถึง 2 เท่า จึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ร่างกายอ่อนไหวต่อการบริโภคกาเฟอีนอยู่แล้ว
ไซเบอร์เกิร์ล
ขอบคุณข้อมูล : นิตยสารแพรว