โรคของคนเก่ง คือ....ฟุ้งซ่าน
โลกและชีวิต มีคนเก่ง ๆ มาปรึกษาด้วยอาการฟุ้งซ่านมากขึ้นส่วนมากจะเรียนเก่งหรือทำงานเก่ง หน้าที่การงานดี
มีอนาคตแต่ในชีวิตส่วนตัวไม่ค่อยมีความสุขเลยเริ่มตั้งแต่นอนไม่หลับติดต่อกัน กังวล คิดมาก คิดซ้ำซากกลัวว่าจะอ่อนเพลีย ก็เลยรู้สึกอ่อนเพลียจริง ๆ ทุกครั้งอารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย พวกนี้มีความคิดที่มากเกินปกติ คิดตลอดเวลา ขยันหาข้อมูลความคิดมาใส่สมองทั้งจากอินเตอร์เน็ต สิ่งพิมพ์ การสัมมนา ทีวี การสนทนา ฯลฯ สมองจึงเต็มไปด้วยข้อมูลที่มากจนล้นสมองออกมาบางคนรู้ว่าควรจะลบ (delete) ข้อมูลออกจากสมองบ้าง แต่ก็ไม่รู้จะลบอย่างไร
แถม...กลับไปได้ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมมาเพิ่มเติมใส่สมองเข้าไปอีก นี่คือวงจรชีวิตของคนที่เรียนเก่งหรือทำงานเก่ง ที่มักคิดฟุ้งซ่านที่พบได้มากขึ้นในทุกวันนี้ พวกนี้มักมีสมองซีกซ้ายทำงานดี ชอบคิดในแนวหาเหตุผล วิเคราะห์ วิจารณ์ได้เก่ง และพวกนี้มักใช้สมองซีกขวาเพื่อความสุนทรีย์ การจินตนาการที่ดี ความรัก มิตรภาพ ศิลปะ ความงามได้น้อย
ข้อแนะนำง่าย ๆ สำหรับพวกฟุ้งซ่าน ก็คือ
1. หาเวลาฝึกสติ ทำสมาธิทุกวัน จะเป็นการกรองความคิดที่ไม่เหมาะสมออกไปและลดการปรุงแต่งอารมณ์ อยู่กับปัจจุบัน ทำให้คิดฟุ้งซ่านน้อยลง
2. ออกกำลังกายแบบไม่คาดหวังผลให้มากขึ้นทุกวัน ๆ ละ 45 นาที เช่น การวิ่ง แต่เลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน
3. ฝึกการนอนอย่างมีสติและมีความสุข หลีกเลี่ยงการทำให้สมองและร่างกายตื่นตัวก่อนนอน เช่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือสนุก ดูหนังเร้าใจก่อนนอน ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่คิดเรื่องงาน
- รู้จักการนอนอย่างปล่อยวาง คือทำจิตให้ว่างก่อนนอนโดยการหายใจลึก ๆ ช้า ๆ จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกรูจมูก และตั้งจิตบอกกับตัวเองว่าจะนอน – หลับ – พัก – ผ่อนเสียที
- เมื่อนอนหลับได้แค่ไหนก็แค่นั้น อย่ากังวล ถ้าหลับลึก ๆ 4 – 5 ชั่วโมงพอแล้ว ตื่นขึ้นมาให้ทำท่ากระฉับกระเฉง บอกกับตัวเองว่าโชคดีที่ตื่นขึ้นมาได้ วันนี้คงพบสิ่งอื่น ๆที่น่าสนใจมากขึ้นบ้าง
4. ลดกิจกรรม “วิเคราะห์” ลงบ้าง ปล่อยกาย – ใจ – และความรู้สึก ให้สบายมากขึ้น บอกตัวเองว่าต้องการความสุข รู้จักการพอ ยอม และไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น
ถ้าวิเคราะห์มากมักจะจับผิดเก่ง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบตัว
คนเก่ง ๆ ที่ฟุ้งซ่านมีมากขึ้น ที่มาปรึกษาก็มาก หลาย ๆ คนดีขึ้น บางคนต้องใช้ยาช่วยหรือใช้จิตบำบัด
จงเก็บพลังความคิดที่ดี ๆ ไว้ใช้อย่างสร้างสรรค์เถิด
ถ้ามีความคิดมากไปตลอดเวลาเข้าข่ายฟุ้งซ่าน จะเป็นอุปสรรคในการทำงาน และจะเป็นโรคจิต โรคประสาทได้
ศ.ดร.นพ.วิทยา นาควัชระ (จิตแพทย์)