ต้มน้ำเดือดหลาย ๆ ครั้ง อันตรายจริงหรือ?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เขียนได้รับอีเมลเรื่องราวเกี่ยวกับโทษของน้ำต้มเดือดหลาย ๆ ครั้ง มีข้อความว่า “น้ำประปามีแร่ธาตุหลายชนิด เมื่อต้มเดือดแล้วเดือดอีกหลาย ๆ ครั้ง น้ำจำนวนมากจะระเหยกลายเป็นไอ
ส่วนที่เหลือจึงมีปริมาณแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เข้มข้นขึ้นมาก และเกินมาตร ฐานการบริโภค น้ำที่ต้มเดือดนาน ๆ ไอออนของ ซิลเวอร์ไนเตรทที่อยู่ในน้ำ จะเปลี่ยนเป็นซิลเวอร์ไนไตรท์ ซึ่งเป็นสารที่ให้โทษแก่ร่างกาย และแร่ธาตุบางอย่างที่เป็นโทษต่อร่างกาย จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะการระเหยของน้ำ และอาจมากจนเกินขีดจำกัดความสามารถของร่างกาย ในการกำจัด ขับถ่ายออกมา จึงไม่ควรดื่มน้ำที่ต้มเดือดแล้ว หลาย ๆ ครั้ง”
ข้อความดังกล่าวคงทำให้คอกาแฟหลายคน รวมทั้งคนที่ใช้กา หรือ กระติกน้ำร้อนเป็นประจำ ตกอกตกใจ ส่วนจะเป็นจริงหรือเท็จ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ มีคำตอบมาบอกกับผู้อ่านทุกท่าน
นพ.กฤษดา บอกว่า เคยได้รับอีเมลเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็เป็นเรื่องจริงแต่ “จริงไม่ทั้งหมด” กล่าวคือ
1. จริง คือ ถ้าเป็นน้ำธรรมชาติ เช่นน้ำบาดาล น้ำบ่อ หรือน้ำแกงส้มที่เป็นกรดในหม้อโลหะ ถ้าต้มหลายครั้งก็จะยิ่งทำให้น้ำงวดและตะกรันธาตุตกมามากขึ้น หรือแม้แต่ “น้ำแร่” แบบที่เศรษฐีชอบดื่มกันก็ต้องระวัง เพราะต้มนานไปได้ตะกรันแถมแน่
2. ไม่จริง คือ ถ้าเป็นน้ำประปาบริสุทธิ์ ในหม้อเคลือบก็จะไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่หลังจากน้ำเดือดซ้ำแล้วซ้ำอีก
สำหรับกาต้มน้ำชงกาแฟไม่ควรตั้งกา ต้มน้ำร้อนไว้ให้เดือดตลอดเวลา เพราะอาจจะทำให้โลหะกร่อนลงมาปนได้ ลองเปิดฝา กาดูก็ได้อาจเห็นมีคราบตะกรันติด อยู่บ้าง
อย่างไรก็ดีมีหลักอยู่ว่า “น้ำ ใดที่นิ่งเป็นสิ่งที่ชอบของเชื้อโรค” หมายความว่า เชื้อโรคจะชอบอาศัยแบ่งตัวในน้ำนิ่งมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นน้ำในคลองแสนแสบที่นิ่งจนเน่า หรือน้ำในกระเพาะปัสสาวะของคนที่ชอบอั้นบ่อย ๆ ก็เป็นน้ำนิ่งที่เป็นบ้านของเชื้อร้ายได้เช่นกัน
ดังนั้นสำหรับท่านที่ชอบชงกาแฟดื่ม พอน้ำเดือดครั้งหนึ่งแล้วขอให้เลือกกดให้อยู่ในโหมดอุ่น (Warm) ก็พอแล้ว จะได้เป็นการป้องกัน “น้ำดื่มเน่าเคล้าเชื้อโรค” และ “ช่วยลดโลกร้อน” ช่วยยืดอายุกาต้มน้ำไฟฟ้าด้วย.