มหิดลคิดค้นแบบจำลองผ่าหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพบายพาส

มหิดลคิดค้นแบบจำลองผ่าหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพบายพาส


มหิดลคิดค้น"แบบจำลองผ่าหัวใจ" เพิ่มประสิทธิภาพ"บายพาส"


"มหิดล" คิดค้นงานวิจัยแบบจำลองช่วยการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจสำเร็จครั้งแรกของโลก เตรียมนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้จริง 5-10 ปีข้างหน้า ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดซ้ำ

รศ.เบญจวรรณ วิวัฒนปฐพี รองหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัย ระบุว่า ผลงานวิจัยแบบจำลองเพื่อช่วยการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการนำข้อมูลผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาลศิริราช 50 คนไปทำแบบจำลองภาพ 3 มิติในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้แพทย์รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดที่ตีบตันก่อนผ่าตัด และเข้าใจพฤติกรรมการไหลของเลือดในเส้นเลือดสู่หัวใจได้ถูกต้อง นำไปสู่การเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละกรณี

"แบบจำลองดังกล่าวจะพิจารณาการบีบและคลายตัวของหัวใจที่มีผลต่อการไหลของเลือดและแรงดัน เก็บข้อมูลจากการนำผู้ป่วยผ่านเครื่องซีพีสแกน เพื่อสร้างหลอดเลือดจำลองเสมือนจริง 3 มิติ ผลงานวิจัยได้รับทุนจากมหิดล ใช้เวลาศึกษามาแล้ว 2 ปี ปีละ 650,000 บาท ขณะนี้กำลังจดสิทธิบัตร ส่วนผลงานได้พิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำของโลก" รศ.เบญจวรรณ เผย

ด้านผศ.น.พ.ทนงชัย ศิริอภิสิทธิ์ อาจารย์ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ผลงานวิจัยดัวกล่าวจะนำมาใช้ได้จริงใน 5-10 ปีข้างหน้า

ระหว่างนี้จะพัฒนาให้โปรแกรมทำงานเร็วขึ้นจากเดิมได้ภาพจากซีทีสแกนต้องใช้เวลา 1 ปีจึงได้ภาพจำลองแต่ ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ตั้งเป้าไว้จะใช้เวลาไม่กี่นาทีในอนาคต ส่วนการผ่าตัดผู้ป่วยมีวิธีรักษาหลายแบบ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมากกว่าร้อยละ 50 มักจะกลับมารับการผ่าตัดใหม่ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี และแพทย์ใช้เวลาผ่าตัดครั้งละประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากมีการนำงานวิจัยมาใช้กับผู้ป่วยได้จริง คาดว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยผ่าตัดซ้ำมากกว่าครึ่งหนึ่ง และเวลาในการผ่าตัดจะลดลงเช่นกัน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังแถลงข่าวการคิดค้นเครื่องมือควบคุมไอระเหยน้ำมันลดการสูญเสียพลังงานของชาติ

โดยรศ.วิทยา อยู่สุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการและนวัตกรรมการศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษพบว่าคลังน้ำมันเชื้อเพลิงและปั๊มน้ำมันทั่วประเทศปล่อยไอระเหยน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาในชั้นบรรยากาศจำนวนมาก แม้จะออกกฎหมายบังคับให้คลังน้ำมันต้องติดตั้งเครื่องจำกัดไอระเหยน้ำมันแต่ต้องลงทุนสูง ถ้าใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้ควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำ ใช้งบฯ 2 ล้านบาท หากสั่งจากต่างประเทศจะมีราคา 10-15 ล้านบาท ขณะนี้มีการใช้งานแล้วที่คลังน้ำมันระยอง และกำลังดำเนินการอีก 2 แห่ง

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์