ภาวะผมร่วงหลังคลอด (Postpartum Hair Loss)

ภาวะผมร่วงหลังคลอด (Postpartum Hair Loss)


นายแพทย์คณิต คูศิริวิเชียร

         มีคุณแม่บางคนถามผมเข้ามา เกี่ยวกับปัญหาเรื่องมีผมร่วง ซึ่งเกิดภายหลังการคลอด ซึ่งประจวบเหมาะกับ ภรรยาของผมคุณกอล์ฟ เจ้าของผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก Little Bébé ก็มีปัญหานี้อยู่เหมือนกัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเด็นนี้ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นมา

ผมร่วงหลังคลอดเป็นอย่างไร

         ภาวะผมร่วงหลังคลอดนี้จะมีลักษณะ คือ ภายหลังจากที่คุณแม่คลอดน้องได้ประมาณ 3 เดือน เส้นผมของคุณแม่ก็จะหลุดและร่วงออกเป็นจำนวนมากกว่าปกติ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่เป็นปกติ และเป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราว ดังนั้นคุณแม่จึงไม่ต้องตกใจ โดยทั่วไปแล้วอาการจะหายไปภายในเวลาประมาณ 6 – 12 เดือนหลังคลอด

วัฎจักรการเจริญเติบโตของเส้นผม (Hair Growth Cycle)

         โดยปกติแล้ว เส้นผมของเราประมาณ 85 – 95 % จะอยู่ในช่วงชีวิตของการเติบโต (Growth Phase) และที่เหลือ 5 – 15 % จะอยู่ในช่วงชีวิตของการพัก (Resting Phase) ซึ่งเมื่อผ่านพ้นช่วงพัก เส้นผมก็จะหลุดร่วงออกไปจากศีรษะของ เนื่องจากมีเส้นผมใหม่ (New Anagen Hair) งอกแทนที่ขึ้นมา และดันให้ผมเส้นเดิมหลุดออกไป เส้นผมที่หลุดร่วงในแต่ละวันจะอยู่ในช่วงประมาณ 100 – 120 เส้น (จากเส้นผมทั้งหมดประมาณ 100,000 เส้น) ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดต่อเนื่องและเป็นวัฎจักรการเจริญเติบโตของเส้นผม (Hair Growth Cycle)

ทำไมถึงต้องผมร่วงหลังคลอด

         ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen hormone) จะอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีผลทำให้เส้นผมอยู่ในช่วงเติบโตเป็นจำนวนมาก เส้นผมอยู่ในช่วงพักมีเป็นจำนวนน้อย ดังนั้นคุณแม่อาจสังเกตได้ว่าระหว่างตั้งครรภ์ จะมีผมที่ดกดำขึ้น และหลุดร่วงน้อย

         แต่เมื่อคุณแม่ได้คลอดทารกออกมาแล้ว ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะตกลงมา ทำให้เส้นผมที่เคยอยู่ในช่วงเติบโตเป็นจำนวนมาก ค่อยๆเปลี่ยนไปอยู่ในช่วงพักและหลุดร่วงออกไปจากศีรษะพร้อมๆกัน ซึ่งระยะการเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลาประมาณ 1 - 6 เดือนแล้วแต่บุคคล (เฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน) ทำให้คุณแม่หลายคนมีอาการผมร่วงหลังคลอดเกิดขึ้นเมื่อทารกอายุได้ 3 เดือน ซึ่งอาจร่วงได้ถึงวันละ 400 - 500 เส้นเลยทีเดียว โดยจะสังเกตได้ชัดเจนตอนหวีผมหรือสระผมว่าผมร่วงมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องวิตก เพราะผมเส้นใหม่จะขึ้นมาแทนที่และกลับสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 6 – 12 เดือนหลังคลอด

กรณีใดบ้างที่ต้องพบแพทย์

         ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าอาการผมร่วงนี้เป็นมากกว่าปกติมากๆ หรือผมร่วงโดยไม่กลับสู่ภาวะปกติในเวลา 12 เดือนหลังคลอด หรือ เมื่อลูกอายุได้ครบขวบปีพอดี ให้ไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นได้ว่ามีการขาดธาตุเหล็ก (ซึ่งอาจเกิดจาก ระหว่างตั้งครรภ์อาจได้รับธาตุเหล็กทดแทน เช่น FBC, Obimin AF ไม่เพียงพอ หรือ เกิดจากเสียเลือดระหว่างคลอดจำนวนมาก หรือ อื่นๆ) หรือ มีภาวะไธรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือ ภาวะอื่นๆ ก็เป็นได้

ระหว่างที่ผมร่วงคุณแม่ทำอะไรได้บ้าง

         ในระหว่างที่มีภาวะผมร่วงหลังคลอด เราไม่มีวิธีที่จะหยุดไม่ให้ผมร่วงได้ ดังนั้นคุณแม่อาจถือโอกาสนี้ในการเปลี่ยนทรงผม โดยอาจตัดผมสั้น ซึ่งเป็นทรงที่ต้องการการดูแลน้อย ทำให้ไม่ต้องหวีผมบ่อย เพราะการหวีผมหรือแปรงผมแรงๆและบ่อยๆจะทำให้ผมร่วงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เศษเส้นผมที่ตกตามพื้นลดน้อยลงไปด้วย การกินอาหารจำพวกโปรตีนก็อย่าให้ขาด ให้กินให้เพียงพอ

         อีกเรื่องที่ต้องระวัง คือ เส้นผมของคุณแม่ที่ร่วงอาจไปพันอยู่ที่ ข้อมือ, นิ้วมือ, ข้อเท้า, นิ้วเท้า, ข้อศอก, อวัยวะเพศชาย หรือ ข้อพับอื่นๆ ของลูกน้อยได้ โดยมันจะรัดแน่นและเสียดสี เกิดภาวะที่เรียกว่า แฮร์ ทูนิเก้ (Hair Torniquet) ซึ่งทำให้ลูกน้อยเจ็บอย่างมาก ถ้าคุณแม่พบว่าลูกร้องโดยไม่มีสาเหตุ อาจต้องตรวจดูให้ดีว่าเกิดภาวะนี้หรือไม่


ขอบคุณข้อมูล : littlebebe

เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์