พาร์กินสัน…โรคสั่นสันนิบาต

พาร์กินสัน…โรคสั่นสันนิบาต


โรคพาร์กินสัน หรือที่คนไทยเรียกว่า โรคสั่นสันนิบาต เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ตัวอย่างบุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคพาร์กินสัน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 โมฮัมเหม็ด อาลี ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ยัสเซอร์ อาราฟัต ดัดลีย์ มัวร์ จอนนี่ แคช เป็นต้น

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ.2360 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ เป็นผู้รายงานโรคพาร์กินสันเป็นคนแรก

ในอดีตเข้าใจผิดว่าโรคพาร์กินสันมีความผิดปกติที่ไขสันหลัง แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบแน่ชัดแล้วว่า พยาธิสภาพของโรคพาร์กินสัน เกิดขึ้นที่ในเนื้อสมองส่วนลึก อาการของโรคพาร์กินสันในระยะแรก แพทย์อาจยังไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ เมื่อติดตามผู้ป่วยไปสักระยะหนึ่ง อาการต่างๆ ถึงจะปรากฎเด่นชัดขึ้น

กลไกการเกิดโรค

ในสมองมีสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้แก่ โดปามีนและอะซิทิลโคลีน ซึ่งปกติจะอยู่ในภาวะสมดุล เมื่อเซลล์สมองที่สร้างโดปามีนตายไปสมดุลดังกล่าวก็เสียไป ร่างกายจึงเกิดความผิดปกติทำให้มีอาการเคลื่อนไหวผิดปกติปรากฏเป็นอาการของโรคพาร์กินสัน

อาการของโรค

โรคพาร์กินสันทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด 3 ประการ ได้แก่ อาการสั่น เกร็ง และเคลื่อนไหวช้า
อาการสั่น มักเกิดขึ้นขณะอยู่เฉยๆ มีลักษณะเฉพาะคือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าเคลื่อนไหว หรือยื่นมือทำอะไร อาการสั่นจะลดลงหรือหายไป มักเกิดขึ้นที่มือข้างใดข้างหนึ่ง

อาการเกร็ง มักมีอาการแข็งตึงของแขนขาและลำตัว ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ปวดตามกล้ามเนื้อ

อาการเคลื่อนไหวช้า ทำอะไรช้าลงไปจากเดิมมาก ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม เดินช้าและงุ่มง่าม สังเกตได้ว่าแขนไม่แกว่ง และผู้ป่วยมักบ่นว่าแขนขาไม่มีแรง

การวินิจฉัยโรค

โดยทั่วไปหากผู้ป่วยปรากฏอาการชัดเจน สามารถวินิจฉัยได้จากลักษณะอาการและการตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด การตรวจภาพรังสีและการตรวจเลือดอาจไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค แต่อาจใช้เพื่อวินิจฉัยแยกโรคในบางรายเท่านั้น ในระยะแรกเริ่มอาจวินิจฉัยยากจำเป็นต้องวินิจฉัยแยกโรคก่อนเสมอ ผู้ที่สงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประสาทวิทยา หรือที่เรียกว่าประสาทแพทย์

แนวทางการรักษา

หลักการรักษาที่สำคัญ คือเพิ่มระดับของสารโดปามีนในสมอง โดยเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่างกัน หรือรักษาโดยการกระตุ้นเซลล์สมองให้สร้างโดปามีนมากขึ้น เป้าหมายสำคัญของการรักษา เพื่อบรรเทาอาการต่างๆของโรค และป้องกันโรคแทรซ้อน

การรักษาด้วยยา - ยาที่ใช้บ่อยๆ ได้แก่ เลโวโดป้า, ยาในกลุ่ม dopamine agonists, ยาที่ออกฤทธิ์ต้านเอ็นไซม์ MAO-B และยาออกฤทธิ์ต้านเอ็นซัยม์ COMT ตัวอย่างชื่อทางการค้าของยา ได้แก่ Sinemet, Parlodel, Comtan, Eldepryl, Symmetrel

การผ่าตัด
- ในระยะที่ใช้ยาไม่ได้ผล ในอดีตการผ่าตัดจะทำลายสมองบางส่วน ปัจจุบันนิยมรักษาโดยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมอง เรียกว่า Deep Brain Stimulation (DBS) วิธีการนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยในระยะท้ายๆ ที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผลอีกต่อไป โดยก่อนรักษาผู้ป่วยมีอาการแขนขาสั่นมากจนควบคุมไม่ได้ ร่างกายแข็งเกร็ง เคลื่อนไหวลำบาก หลังรับการรักษาจะมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน จนสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ

ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ – โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากทารก จากการศึกษาวิจัยหลายสถาบัน รวบรวมผู้ป่วยประมาณหนึ่งพันราย พบว่าผลการรักษายังไม่ดีนัก อาการของโรคดีขึ้นมากในผู้ป่วยกลุ่มที่มีอายุไม่มากหรือต่ำกว่า 60 ปี ที่สำคัญมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เมื่อหยุดยาแล้วมีอาการสั่น ระยะหลังได้นำเซลล์เยื่อบุจอตาชนิดมีรงควัตถุ เป็นเซลล์ที่ทำการปลูกถ่ายพบว่าได้ผลดี แต่จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ยังน้อยอยู่

การรักษาด้วยสารกระตุ้นเซลล์ - ที่มีชื่อเรียกว่า GDNF ได้ผลดีในสัตว์ทดลอง และกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยเฟสที่ 3 ในมนุษย์ หลักการคือสารดังกล่าว เมื่อเข้าไปในสมอง จะกระตุ้นเซลล์สร้างสารโดปามีน ทำให้อาการของโรคพาร์กินสันดีขึ้นมาก
การรักษาด้วยวิธียีนบำบัด - กำลังอยู่ในขั้นทดลองวิจัย ผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าได้ผลดีพอสมควร

คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย

- ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจำเป็นต้องมีผู้ดูแลใกล้ชิด
- ป้องกันการหกล้มโดยเลือกรองเท้าที่มีพื้นรองเท้าเป็นยาง ทางเดินในบ้านไม่ควรมีของเล่นหรือสิ่งของ หรือเปื้อนน้ำ ควรติดราวไว้ในห้องน้ำ ทางเดิน บันได
- ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการทรงตัวและการเดิน แนะนำให้ก้าวยาวๆ ยกเท้าสูง และแกว่งแขนเมื่อรู้สึกว่าเดินเท้าลาก ให้เดินช้าลงแล้วสำรวจท่ายืนของตัวเอง ท่ายืนที่ถูกต้องต้องยืนตัวตรง ศีรษะไหล่และสะโพกอยู่ในแนวเดียวกัน เท้าห่างกัน 8-10 นิ้ว
- ช่วยให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกาย หรือบริหารร่างกายตามสมควรและสม่ำเสมอ จะช่วยให้อาการต่างๆดีขึ้น และช่วยให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการซึมเศร้าตามมาอีกด้วย
- ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจท้องผูกได้ง่าย เนื่องจากการทำหน้าที่ของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ทำให้การบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ เกิดอาการท้องผูก 3-4 วันถึงจะถ่ายอุจจาระครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ใช้ยา Artane และ Cogentin ก็เป็นสาเหตุให้ท้องผูกได้

ในอดีตโรคนี้รักษาไม่ได้ และทำให้มีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ผู้ป่วยต้องนอนอยู่กับเตียงตลอดจนในที่สุดก็จะเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อน ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาจนทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไปได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันดีขึ้นมาก

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเวชธานี


เครดิต :
เครดิต : ที่นี่ดอทคอม บันเทิงดารา


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์