นวัตกรรม...สร้างลูก
นี่เป็นตัวเลขที่คนไทยเป็นเจ้าของสถิติโลก 25 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรทั้งประเทศ คือตัวเลขที่คนไทยเป็นโรค "ธาลัสซีเมีย" ตัวเลขนี้ต้องบอกว่ามากที่สุดในโลก
ยังไม่พอ เพราะโครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล โดย น.พ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ ยังระบุไว้อีกว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียรายใหม่เกิดขึ้นมากกว่า 10,000 ราย ผลที่ตามมาก็คือจะมีหญิงชายที่เป็นพาหะของโรคแต่งงานกัน ดังนั้นโอกาสที่ชายและหญิงที่เป็นพาหะของโรคนี้จะแต่งงานกันก็มีมากตามไปด้วย โดยพบว่าจะมีมากถึง 50,000 คู่ต่อปี ทำให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสที่จะเป็นโรคธาลัสซีเมียสูงถึง 1 ใน 4 คน
เรียกว่าจะมีลูกทั้งทีก็ว่ายากแล้ว แต่จะทำให้ลูกแข็งแรงปลอดภัย จากโรคภัยไข้เจ็บยิ่งยากกว่า กลายเป็นปัญหาคับอกคับใจของคนที่อยากเป็นพ่อเป็นแม่อย่างยิ่ง
แต่...ณ วันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาการ มีการคิดค้น ค้นคว้า วิจัย พัฒนาเทคโนโลยีจนก้าวล้ำจนหาทางออกให้กับเรื่องคับใจที่ว่าได้แล้ว จนกลายเป็นความหวังใหม่ให้กับคนอยากมีลูกที่แข็งแรงปลอดโรคภัยทางพันธุกรรม
ความหวังนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของกลุ่มแพทย์คนไทยที่มีความเชี่ยวชาญและศูนย์ซิดนีย์ไอวีเอฟ (Sydney IVF) ที่มีโดดเด่นเรื่องการรักษาผู้มีบุตรยากในออสเตรเลีย ผู้มากประสบการณ์ในการตรวจคัดกรองตัวอ่อนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ร่วมกันตั้งซูพีเรียร์เอ.อาร์.ที. (Superior A.R.T.) ศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน โดยกรรมวิธีที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
กรรมวิธีที่ว่านั้นเรียกว่า "เทคโนโลยีคัดกรองตัวอ่อน" หรือ PGD-PCR ที่ประยุกต์จากเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้ว
ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือวิธีการนี้จะสามารถออกผลการตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำถึง 95% จากการตรวจตัวอ่อนทั้งหมด และสามารถตรวจป้องกันโรคทางพันธุกรรมได้มากกว่า 100 โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย โรคดาวน์ซินโดรม หรือโรคมะเร็งทางพันธุกรรม ฯลฯ ก็ตาม
วิธีนี้นักวิทยาศาสตร์จะทำการคัดเลือกตัวอ่อนที่ได้จากการผสมเทียมในหลอดแก้ว ทำการวิเคราะห์เซลล์ตัวอ่อนที่มีอยู่ถึงในระดับยีนและโครโมโซมอย่างละเอียดจนได้ตัวอ่อนที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด ปลอดโรคทางพันธุกรรม แล้วจึงนำส่งตัวอ่อนที่ได้รับการคัดเลือกกลับเข้าสู่ครรภ์คุณแม่ให้ลูกได้เติบโตไปตามปกติ
น.พ.สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ สูตินรีแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อนซูพีเรียร์เอ.อาร์.ที.กล่าวว่า
"เดิมทีเราก็ไม่รู้ว่าเด็กจะมีโอกาสเป็นโรคทางพันธุกรรมหรือไม่ จนคลอดออกมา หรือมีเพียงแค่เทคโนโลยีเบื้องต้นในการตรวจหาความผิดปกติตอนตั้งครรภ์ได้ 4-5 เดือน แต่เทคโนโลยีการตรวจเช็กของเราก็คือการเข้าไปวินิจฉัยและตรวจตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนก่อนที่จะฝังตัว เราสามารถเลือกตัวอ่อนที่ไม่เป็นโรคใส่เข้าไปในมดลูกได้"
หากการส่งกลับเข้าไปฝังตัวนั้นจะสัมฤทธิผล 100%
เพราะทั้งหมดยังต้องอาศัยปัจจัยอีกหลายประการ อาทิ คุณภาพของตัวอ่อนที่ได้และสุขภาพของคู่สมรส ฯลฯ อีกทั้งไม่สามารถระบุได้ว่าเด็กที่เกิดมานั้นจะสูง ต่ำ ดำ ขาวอย่างไร หรือเด็กที่เกิดมาจะปลอดโรคทุกสิ่ง แต่ที่แน่ๆ คือสามารถลดอัตราการเกิดของทารกที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมที่อาจเกิดมาได้รับพันธุกรรมที่ผิดปกติจากพ่อและแม่ได้
นวัตกรรมนี้ถือเป็นข่าวดี ช่วยสานต่อความหวังให้กับผู้ที่อยากเป็นพ่อเป็นแม่ได้อีกทาง