อาหารฤทธิ์เย็น
อาหารฤทธิ์เย็น อาจจะเพิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทย แต่ความจริงศาสตร์ชนิดนี้มีมาช้านาน ทั้งในการแพทย์แผนจีน หลักอายุรเวท หรือการแพทย์อินเดีย ควบคู่กับอาหารฤทธิ์ร้อน ทั้งสองศาสตร์ล้วนใช้อาหารสร้างความสมดุลให้กับร่างกาย
ส่วนการนำมาปรับใช้ตามทฤษฎีแบบไทยนั้น เกิดขึ้นบนพื้นฐานของแพทย์ทางเลือก แนวธรรมชาติบำบัด คนแรกที่นำมาใช้คือ ใจเพชร มีทรัพย์ หรือหมอเขียว ที่ถือเป็นผู้นำด้านศาสตร์แห่งอาหารฤทธิ์ร้อน-เย็น หลักการโดยทั่วไปคือการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของชาวไทย โดยคำนึงถึงวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น สภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และสภาพร่างกาย (ความสบายกาย) ของแต่ละบุคคลเป็นพื้นฐาน
ในหน้าร้อนเช่นนี้ การกินอาหารที่มีฤทธิ์เย็นน่าจะเหมาะสมที่สุด เพื่อลดความร้อน สร้างความเย็นแก่ร่างกาย
จะรู้ได้อย่างไร ชนิดใดเป็นอาหารฤทธิ์เย็น? นิตยสาร "ครัว" ฉบับเม.ย.แนะนำไว้ดังนี้ ลักษณะของอาหารฤทธิ์เย็น คือ อาหารที่มีรสชาติจืด หวานจากธรรมชาติหรือหวานไม่มาก อาหารที่ให้เส้นใยสูง ให้พลังงานต่ำ รสชาติไม่จัดจ้านเกินไป
นอกจากนี้ยังแบ่งตามลักษณะของพืช เช่น พืชที่อยู่สูง ใกล้แสงแดด ด้วยพืชเหล่านี้จะสร้างความเย็นให้กับตัวเองเพื่อสู้กับความร้อน อาทิ ส่วนที่เป็นยอดของพืชจะมีฤทธิ์เย็นมากที่สุด พืชเนื้อยุ่ย หลวม เรียว บาง ชุ่ม สด อ่อน หากเป็นสีสันจะเป็นโทนสีอ่อน สีขาวหรือเขียว ส่วนสีเหลืองจะเป็นกลาง หรือขึ้นอยู่กับลักษณะของอาหารเมื่อกินเข้าไปแล้วรู้สึกชุ่มคอ ไม่ระคายเคืองถือว่ามีฤทธิ์เย็น
ตัวอย่างของอาหารกลุ่มฤทธิ์เย็นมีดังนี้
กลุ่มคาร์โบไฮเดรต : น้ำตาล เส้นขาว (เส้นหมี่ ก๋วยเตี๋ยวที่ไม่มีน้ำมัน) วุ้นเส้น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ฯลฯ
กลุ่มโปรตีน : ถั่วขาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู ฯลฯ
กลุ่มผัก : ผักบุ้ง ตำลึง ผักหวาน บวบ ฟัก แตงต่างๆ สายบัว หยวกกล้วย ยอดฟักแม้ว มะรุม หญ้าปักกิ่ง ว่านหางจระเข้ ถั่งงอก บร็อกโคลี หัวไชเท้า ฯลฯ
กลุ่มผลไม้ : มังคุด มะยม แตงโม แตงไทย แคนตาลูป สับปะรด ส้มโอ ส้มเช้ง กล้วยน้ำว้า มะขามดิบ น้ำมะนาว น้ำมะพร้าว ลางสาด สตอรว์เบอร์รี่ ฯลฯ
แม้รสชาติจะต่างกัน แต่อาหารฤทธิ์เย็น อาหารฤทธิ์ร้อน มีหลักการเดียวกัน คือปรับสมดุลร่างกาย
ดังคำกล่าวที่ว่า "กินแล้วรู้สึกสบาย เบากาย มีกำลัง"