แช่แข็งไข่ ทางเลือกใหม่สำหรับหญิงมีลูกช้า

แช่แข็งไข่ ทางเลือกใหม่สำหรับหญิงมีลูกช้า



เพราะผู้หญิงทำงานยุคใหม่ต้องทำงานแข่งกับเวลา บวกกับความสามารถที่ไม่เป็นรองเพศชาย หรือบางครั้งอาจมีมากกว่าด้วยซ้ำ ทำให้เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการทำงานซะเป็นส่วนใหญ่

จึงไม่ค่อยมีเวลาคิดถึงเรื่องครอบครัวและการแต่งงาน ส่งผลให้ผู้หญิงไทยส่วนมากแต่งงานสร้างครอบครัวและมีลูกช้า ซึ่งการมีลูกเมื่ออายุเยอะอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของลูกในครรภ์ได้

แต่สำหรับผู้ชายแล้ว การแต่งงานและมีลูกช้ามักไม่ค่อยเป็นปัญหา เนื่องจากผู้ชายสามารถสร้างอสุจิได้ตั้งแต่อายุ 12 ปี ไปจนเกือบตลอดชีวิต

ถ้าไม่มีเรื่องการเจ็บป่วยใด ๆ มาเป็นอุปสรรคตรงกันข้ามตลอดชีวิตของลูกผู้หญิงจะมีจำนวนไข่จำกัด กล่าวคือไข่จะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ยังเป็นทารกในครรภ์มารดา ประมาณ 7 ล้านใบ จากนั้นจำนวนไข่ก็จะลดลงและไม่มีการสร้างเพิ่มอีก นอกจากนี้หลังจากทารกคลอดแล้วจะเหลือไข่อยู่ประมาณ 2 ล้านใบ และลดลงเหลือเพียง 4 แสนใบเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นและมีประจำเดือนครั้งแรก

นพ.สมเจตน์ มณีปาลวิรัตน์ สูตินรีแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์และวินิจฉัยพันธุกรรมตัวอ่อน ซูพีเรีย เอ.อาร์.ที ระบุว่า

การทำงานของรังไข่จะลดลงเมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้น โดยเฉพาะ เมื่ออายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป คุณภาพของไข่ก็ย่อมสมบูรณ์น้อยกว่าไข่ของหญิงสาววัย 20 ต้น ๆ การตั้งครรภ์ตามธรรมชาติตอนอายุมากแล้ว สำหรับผู้หญิงบางคนจึงมีความเสี่ยงมากขึ้น โอกาสที่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และปัญหาด้านสุขภาพของทารกน้อยก็เป็นไปได้สูงกว่าปกติ ในบางรายอาจต้องตรวจน้ำคล่ำ เพื่อเช็คดูว่าลูกมีโอกาสจะเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไข่และอายุของผู้หญิงเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่งในการมีบุตร

แช่แข็งไข่ ทางเลือกใหม่สำหรับหญิงมีลูกช้า



สูตินรีแพทย์ กล่าวว่า ก่อนจะสายเกินไปสำหรับการมีบุตร ปัจจุบันได้มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาในการเก็บรักษาไข่ของผู้หญิงเอาไว้ล่วงหน้า

ด้วย เทคโนโลยีการแช่แข็งไข่ (Vitrification) ซึ่งเป็นการเก็บไข่ไว้ในไนโตรเจนเหลว ภายในถังเก็บที่อุณหภูมิ -196 องศา ทำให้เกิดการเย็นตัวลงอย่างรวดเร็ว และหยุดปฏิกิริยาทุกอย่างของเซลล์ไข่ไว้ หรือเรียกว่า หยุดนาฬิกาชีวภาพ จึงสามารถเก็บรักษาไข่ของผู้หญิงไว้ได้นานหลายปี จนกว่าจะพร้อมนำออกมาใช้งานอีกครั้ง

ในการเก็บไข่ครั้งหนึ่ง ๆ นั้น แพทย์มักจะเก็บไว้หลาย ๆ ใบ เพื่อสำรองไว้ป้องกันความผิดพลาด โดยจะใช้วิธีกระตุ้นไข่ในรังไข่ของผู้หญิงให้ไข่ตกมากขึ้น เมื่อได้ไข่ที่สมบูรณ์เต็มที่แพทย์ก็จะทำการเก็บไข่ออกมาทางช่องคลอด และนำมาไปเก็บรักษาไว้ตามกระบวนการดังกล่าว

นพ.สมเจตน์ ให้ข้อมูลว่า เทคโนโลยีแช่แข็งไข่ผ่านการค้นคว้าและพัฒนาขึ้น โดยฝีมือของทีมแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย

ซึ่งร่วมมือกับศูนย์ซิดนีย์ ไอวีเอฟ (Sydney IVF) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากในออสเตรเลีย และมีประสบการณ์ในการตรวจคัดกรองตัวอ่อนมากที่สุดแห่งหนึ่งในระดับสากล จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและได้รับการยอมรับกันทั่วโลก เป็นทางเลือกใหม่ในการวางแผนอนาคตสำหรับผู้หญิงยุคนี้ ที่ต้องการจะมีลูกแต่ยังไม่พร้อมด้วยสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะยังรู้สึกสนุกและท้าทายกับชีวิตการทำงาน หรือเป็นสาวช่างเลือกที่ยังไม่เจอคนถูกใจ ไปจนถึงสาวนักธุรกิจที่แต่งงานแล้ว แต่ยังไม่พร้อมจะอยู่กับบ้านเพื่อเลี้ยงลูกก็ตาม

และยังมีประโยชน์สำหรับหญิงสาวที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งมีความเสี่ยงจากการรักษาด้วยคีโมบำบัด มีผลข้างเคียงทำให้หมดประจำเดือนหรือมีลูกไม่ได้ จึงควรทำการแช่แข็งไข่เก็บไว้ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาโรค

สูตินรีแพทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เทคโนโลยีการแช่แข็งไข่ จึงเป็นทั้งตัวช่วยในการวางแผนและเป็นวิธีแก้ปัญหาให้กับผู้หญิงยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี เพื่อให้พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายที่ส่งผลต่อการมีบุตรยาก หรือมีอายุมากขึ้นจนไม่สามารถมีลูกได้เองตามธรรมชาติ ก็ยังมั่นใจได้ว่ายังมีไข่ที่สมบูรณ์แข็งแรงเก็บเอาไว้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคต

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์