สะอึก....เรื่องเล็กที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่
สะอึก…เป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคน หากสะอึกแค่เดี๋ยวเดียว อาจไม่เป็นปัญหากวนใจนัก
แต่หากใครสะอึกติดต่อกันเป็นวัน หรือ หลายๆ วัน แม้หาสารพัดวิธีช่วยให้หายสะอึก ทั้งกลั้นหายใจ ดื่มน้ำ กลืนน้ำตาล ทำอย่างไรก็ไม่เป็นผล นั่นอาจไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะอาการเช่นนี้อาจเป็นเพราะโรคได้! นพ.นรินทร์ อจละนันท์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีช่วยไขข้อข้องใจให้หายสงสัยเกี่ยวกับการสะอึกว่า อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกะบังลมที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอดและช่องท้องที่เกิดขึ้นเองได้โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าเกิดจากมีสิ่งมากระตุ้นเส้น ประสาท 2 ตัว คือ Vagus nerve และ Phrenic nerve ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้น โดยเสียงสะอึกที่เกิดขึ้นมาจากการหายใจออกขณะที่กะบังลมเกิดการกระตุกทันทีทันใด ทำให้เกิดเสียงดังของการสะอึกขึ้น
สำหรับลักษณะอาการแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
1.อาการสะอึกช่วงสั้นๆ อาจเพียง 2-3 นาที
2.การสะอึกหลายๆ วันติดกัน
3.สะอึกติดๆ กันหลายสัปดาห์ และ
4.การสะอึกตลอดเวลา โดยที่การสะอึกกลุ่มแรกเป็นการสะอึกช่วงสั้นๆ ที่ไม่มีอันตรายใดๆ
แต่การสะอึกติดต่อกันหลายๆ วัน เป็นอาการที่ไม่ธรรมดา เนื่องจากมีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ เช่นความผิดปกติทางสมองการเป็นอัมพาตการเป็นโรคทางเดินอาหาร
การอักเสบในช่องท้องบริเวณกะบังลม โรคหลอดเลือดสมองตีบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงอาการทางภาวะจิตใจ และผลกระทบจากการใช้ยาบางชนิด"ส่วนมากผู้ป่วยที่มาหาหมอด้วยการสะอึกเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน เนื่องมาจากมีอาการผิดปกติทางสอง หรือเป็นอัมพาต ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถให้ยาที่ช่วยบรรเทาอาการสะอึกได้ แต่ก็อาจมีการสะอึกเกิดขึ้นมาอีก เพราะอาการสะอึกเป็นเพราะต่อเนื่องที่เกิดจากการเจ็บป่วย"
นพ.นรินทร์อธิบายส่วนวิธีการรักษาบรรเทาอาการสะอึกนั้น
นพ.นรินทร์บอกว่า หากเป็นการสะอึกธรรมดาๆ สามารถใชวิธีการกลั้นหายใจ การกลืนน้ำตาล กระตุ้นบริเวณหลังคอ แต่หากสะอึกติดต่อกันควรที่จะพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการสะอึกว่าเกิดมาจากอาการของโรคใด โดยอาการสะอึกไม่ถือว่าเป็นโรคแต่เป็นผลมาจากการเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร ดังนั้นหากสามารถทราบสาเหตุของโรคให้ยาตามอาการก็สามารถที่ช่วยให้อาการสะอึกดีขึ้น
10 เทคนิคหยุดสะอึก
1.กระตุ้นผิวด้านหลังของลำคอ แถวๆ บริเวณที่เปิดปิดหลอดลม โดยการดึงลิ้นแรงๆ
2.ใช้ด้ามช้อนเขี่ยที่ปิดเปิดหลอดลม
3.กลั้วน้ำในลำคอ
4.จิบน้ำเย็นจัด
5. กลืนน้ำตาลทราย 1-2 ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ หรือ กลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปัง ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ
6.ดื่มน้ำจากขอบแก้วที่อยู่ด้านนอกหรือด้านไกลจากริมฝีปาก
7.จิบน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด หรือดมสารที่มีกลิ่นฉุน เช่น แอมโมเนีย
8.การฝังเข็ม
9. การสวดมนต์ทำสมาธิ
10. กลั้นหายใจเอาไว้โดยการนับ 1 – 10 แล้วหายใจออก จากนั้นดื่มน้ำตามทันที