กลิ่นความกลัว
ดร. เบตตินา พอส จากมหาวิทยาลัยดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี พบว่า กลิ่นของความกลัวมีอยู่จริงและอาจตรวจจับได้
การศึกษาทำโดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม แล้วใช้สำลีสอดไปใต้รักแร้ของอาสาสมัครกลุ่มแรกก่อนเข้าห้องสอบสัมภาษณ์ ต่อมาใช้สำลีสอดไว้ใต้รักแร้ของอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 ที่ออกกำลังกายด้วยการปั่นจักรยาน ระยะเวลาของสำลีที่อยู่ใต้รักแร้ของทั้งสองกลุ่มอยู่ที่ 1 ชั่วโมง ต่อมาให้อาสาสมัครกลุ่มที่ 3 ดมสำลีจากสองกลุ่มแรก ผลปรากฎว่าไม่สามารถบอกได้ว่าเหงื่อบนสำลีก้อนใดมาจากกลุ่มเหงื่อที่ออกเพราะความกลัว หรือกลุ่มเหงื่อที่ออกเพราะออกกำลังกาย
แต่เมื่ออาสาสมัครเข้ารับการตรวจสมองด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ พบว่า
เมื่อดมกลิ่นเหงื่อจากความกลัว ส่วนของสมองที่มีหน้าที่ควบคุมความรู้สึกจะทำงานมากกว่าส่วนอื่นๆ สมองส่วนที่ควบคุมความสงสารเห็นอกเห็นใจก็จะทำงานมากขึ้นเช่นกัน ดร. พอส เชื่อว่า เมื่อเรากลัวหรือตื่นเต้นก็จะปล่อยสารเคมีที่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกสงสาร ทั้งยังเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่า สัมผัสเรื่องการรับกลิ่นของมนุษย์นั้นซับซ้อนเกินกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากสามารถรับรู้ถึงสารฟีราโมนที่ผู้อื่นปล่อยออกมา
ก่อนหน้านี้ก็มีการศึกษาเรื่องกลิ่นออกมาเช่นกัน อย่างปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐพบว่า กลิ่นของนักผจญภัยที่กระโดดร่มทำให้สมองส่วนควบคุมความกลัวของผู้ดมกลิ่นทำงาน ยังมีการศึกษาที่พบว่า ผู้หญิงชอบกลิ่นเหงื่อของผู้ชายที่มีระบบป้องกันโรคภูมิแพ้ซึ่งเมื่อมีบุตรด้วยกันจะทำให้บุตรนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้น้อย ทั้งการศึกษาที่ผู้ดมกลิ่นเหงื่อจะไม่ชอบผู้ที่มีกลิ่นประเภทเดียวกัน ซึ่งอาจเป็นการป้องกันทางธรรมชาติที่ไม่ให้ญาติสนิทมีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกัน