คู่รักหย่าร้าง-ปล่อยตัวโสดส่งผลร้ายสุขภาพ
ดร.ลินดา เวด นักสังคมวิทยามหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา เสนองานวิจัยชี้ว่า การหย่าร้างส่งผลกระทบทำลายสุขภาพร่างกาย
ผลศึกษาดังกล่าวเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 8,652 คน อายุ 51-61 ปี พบว่า คนที่หย่าร้างจะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น ป่วยเป็นมะเร็ง มากกว่าคนที่ไม่เคยแต่งงานถึงร้อยละ 20 แต่จะลดลงมาเหลือร้อยละ 12 สำหรับคนที่หย่าร้างแต่กลับมาแต่งงานใหม่
"แม้เป็นความจริงว่าคนที่หย่าร้างแต่กลับมาแต่งงานใหม่ มีแนวโน้มมีความสุขขึ้น แต่ไม่ช่วยให้ปลอดจากการเป็นโรคภัยไข้เจ็บเรื้อรังเท่าใดนัก คนที่กลับมาแต่งงานใหม่ยังมีโอกาสป่วยเรื้อรังมากกว่าคนที่ยังใช้ชีวิตแต่งงานอยู่ถึง 12% แต่ถ้าหย่าร้างแล้วและยังใช้ชีวิตโสดอยู่จะมีความเสี่ยงป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20%" ผลวิจัย ระบุ
ดร.ลินดา ระบุว่า การหย่าร้างหรือการครองตนเป็นม่าย เป็นตัวการบั่นทอนสุขภาพร่างกาย เพราะเงินทองรายได้ลดลง
และความเครียดเพิ่มขึ้นหากต้องดูแลลูกด้วยตัวคนเดียว ตรงข้ามกับการแต่งงานใหม่ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายโดยทันที ผู้ชายจะมีสุขภาพร่างกายดีขึ้นเพราะมีคนช่วยดูแล ส่วนผู้หญิงจะมีความมั่นคงทางการเงินขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแต่งงานใหม่ไม่สามารถเยียวยาปัญหาต่างๆ ได้ทั้งหมด เพราะปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจได้สะสมและพัฒนาขึ้นมาอย่างช้าๆ ตั้งแต่ช่วงที่มีปัญหาระหองระแหงและหลังการหย่าร้าง ส่วนความเครียดที่เกิดขึ้นหลังจากหย่าร้าง เช่น เครียดเรื่องเงิน เครียดเรื่องภาระเลี้ยงลูก เป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปก็จะยิ่งบั่นทอนสภาพจิตใจ