นักวิจัยฝรั่งเศสเตือนว่า "ดีต" หรือสารเคมีที่ใช้อย่างแพร่หลายในยาไล่ยุงและแมลงทำให้เกิดพิษในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอองแกร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาในมงเปลิเยร์ เผยผลการวิจัยว่า "ดีต" (deet) ออกฤทธิ์เหมือนแก๊สทำลายประสาทให้เป็นอัมพาตที่ใช้ในสงคราม ผลการศึกษากับหนูในระดับโมเลกุลพบว่า ดีตขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ "อะซีติลโคลีนเอสเทอเรส" ที่ควบคุมสารเคมีนำประสาทสำคัญตัวหนึ่ง หากดีตทำปฏิกิริยากับสารฆ่าแมลงกลุ่มคาร์บาเมตที่ใช้ในการเกษตรจะยิ่งเป็นพิษมากขึ้น
เตือนสารเคมีไล่ยุงอันตราย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลสารฆ่าแมลงแห่งชาติของสหรัฐแย้งว่า ผลการศึกษานี้ได้จากการทดลองกับสัตว์ในระดับโมเลกุล
ไม่ได้ทดลองตามสภาพแวดล้อมของการใช้สารไล่ยุงตามปกติ จึงบอกไม่ได้ว่าจะทำให้เกิดพิษในคน ขณะที่สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐจะประเมินผลการศึกษานี้อีกครั้ง แต่เสริมว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่าดีตไม่เป็นอันตราย ส่วน ศ.ไบรอัน กรีนวูด ผู้เชี่ยวชาญด้านมาลาเรียในอังกฤษเห็นว่า ดีตใช้มานานแล้วและมีรายงานผลข้างเคียงน้อย จึงควรวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง
กองทัพสหรัฐพัฒนาดีตขึ้นเมื่อปี 2489 หลังจากประสบปัญหายุงและแมลงรบกวนขณะรบในป่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
จากนั้นขึ้นทะเบียนขอใช้ทั่วไปเมื่อปี 2500 ดีตไล่ยุงด้วยการปกปิดกลิ่นเหงื่อคนทำให้ยุงบินไปดูดเลือดคนอื่น แต่ละปีมีคนใช้สารไล่ยุงและแมลงที่มีส่วนผสมของ ดีตราว 200 ล้านคนทั่วโลก มีทั้งแบบน้ำ ครีม และสเปรย์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแนะให้เลี่ยงบริเวณบาดแผลและผิวหนังที่แพ้ง่าย