13 โรคเกิดใหม่กับ มาร์ม็อต ตัวแพร่ กาฬโรค

ภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ตภาพประกอบทางอินเตอร์เน็ต


13 โรคเกิดใหม่กับ มาร์ม็อต ตัวแพร่ กาฬโรค

          ชาวจีน 3 คนจากเมืองชิงไห่ ประเทศจีน ที่เสียชีวิตจาก กาฬโรคปอด ช่วงแรกผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่า หนูคือตัวการสำคัญ ดังนั้น
วันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนจึงออกคำสั่งปูพรมตรวจพื้นที่ 3.5 พันตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งกักตัวชาวเมืองที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น 1 หมื่นคน

          ผ่านไปได้ไม่กี่วันเจ้าหน้าที่จากศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีนออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงว่า
ต้นตอของโรคนี้ไม่ได้มาจากหนู แต่มาจากตัว "มาร์ม็อต" (Marmot) หรือสัตว์ตระกูลฟันแทะ รูปร่างหน้าตาเหมือนกระรอกแต่ตัวใหญ่กว่า

           นายหวัง หู ผู้อำนวยการกรมควบคุมโรค มณฑลชิงไห่ ให้ข้อมูลว่า หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคระบาดกว่า 140 คน จากกระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์จีนหลายแห่งประสานงานกัน
สืบค้นหาตัวการแพร่ระบาดโรคนี้จนพบว่า หนุ่มจีนวัย 32 ปีที่ติดเชื้อกาฬโรคปอดคนแรก ก่อนตาย 3 วันได้ฝังสุนัขของเขา เมื่อขุดสุนัขตัวนั้นขึ้นมาชันสูตรศพพบว่า ตายเพราะกินเจ้าตัวมาร์ม็อตที่มีเชื้อแบคทีเรียชื่อ "เยอร์ซิเนีย เพสทิส" (Yersinia pestis) ที่เป็นสาเหตุของกาฬโรคปอดนั่นเอง  

          แล้วเชื้อ เยอร์ซิเนีย เพสทิส จากสุนัขเข้าสู่ร่างกายเจ้าของได้อย่างไร? ผู้เชี่ยวชาญจากจีนสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นหมัดที่กินเลือดสุนัขแล้วไปกินเลือดจากชายคนนั้นต่อ เมื่อเชื้อเข้าร่างกายตรงดิ่งไปที่ปอด ชายคนนั้นก็ไอออกมา ทำให้ละอองเชื้อโรคแพร่ไปสู่ญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันอีก 2 คน และแพร่กระจายไปถึงเพื่อนบ้านใกล้เคียงอีก 9 คน

          กาฬโรคปอด เป็นตัวอย่างของโรคที่เรียกกันว่า โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ซึ่งเชื้อโรคจากสัตว์ต่างๆ เป็นตัวการสำคัญทำให้มนุษย์ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหลายชนิด เช่น โรคเอดส์ โรคซาร์ส ไข้หวัดนก โรควัวบ้า ฯลฯ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรคของไทยหลายท่านยืนยันตรงกันว่า กาฬโรคปอด ที่เกิดในจีนไม่น่าเป็นกังวล เพราะโรคนี้หายไปจากประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี แล้ว ตัวเชื้อ กาฬโรค แพร่เข้ามาในไทยครั้งแรกราว 100 ปีก่อนจากพ่อค้าชาวอินเดีย แต่ไม่เคยมีการบันทึกสถิติคนไทยตายจากโรคนี้ว่ามีจำนวนเท่าไรกันแน่ และถ้าโรคนี้โผล่มาอีกก็สามารถให้ยา สเตร็ปโตมัยซิน (streptomycin) หรือ เตตราไซคลิน (tetracycline) ได้ทันที 

          โรคระบาดที่สร้างความหวาดหวั่นให้แก่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่โรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมนุษย์คิดค้นยารักษาไว้แล้ว แต่เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) หรือโรคที่ติดต่อจากเชื้อใหม่ โดยเฉพาะเชื้อโรคจากสัตว์หรือเชื้อโรคชนิดใหม่ ที่ผสมพันธุ์ไปมาระหว่างเชื้อโรคของมนุษย์กับสัตว์ จนกลายเป็นเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่

           งานวิจัยของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จากการศึกษารูปแบบโรคติดต่ออุบัติใหม่ 335 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน 64 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 - 2004 พบว่า

โรคอุบัติใหม่เกิดขึ้นมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ร้อยละ 60 เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และส่วนใหญ่เป็นสัตว์ป่า เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้เลือดออกอีโบลา ฯลฯ

           เมื่อเดือนตุลาคม 2551 กรมควบคุมโรคประกาศว่า มีโรคติดต่ออุบัติใหม่สำคัญที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ 13 โรค คือ  

          1. โรคไข้กาฬหลังแอ่น
          2. โรคไข้เลือดออกอีโบลา
          3. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์และเฮนดรา
          4. โรคไข้หวัดนก
          5. ไข้เหลือง
          6. โรคชิคุนกุนยา
          7. โรคมือเท้าปาก จากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
          8. โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส 
          9. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)
          10. โรคทูลารีเมีย
          11. โรคเมลิออยโดซิส
          12. โรคลิชมาเนีย
          13. โรควีซีเจดี หรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่

          ทั้ง 13 โรคข้างต้นล้วนมีต้นตอมาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรืออ้อม เช่น โรคไข้เลือดออกอีโบลา ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50 เสียชีวิต

โดยองค์การอนามัยโลกยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าสัตว์ประเภทใดเป็นแหล่งที่มาของโรคนี้ รู้เพียงว่าเป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พบครั้งแรกในประเทศซูดานเมื่อปี 2519 เคยระบาดทำให้คนตายไป 245 คน แต่ยังไม่เคยพบโรคนี้ในประเทศไทย ส่วนโรคนิปาห์พบครั้งแรกในมาเลเซียปี 2541 เริ่มจากผู้เลี้ยงสุกรที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ โดยงานวิจัยของจุฬาฯ พบค้างคาวแม่ไก่ร้อยละ 7 มีเชื้อไวรัสนิปาห์ในตัว แต่ยังไม่เคยระบาดในไทยเช่นกัน ขณะที่ โรคติดเชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส เป็นเชื้อโรคจากสุกร ในปี 2550 มีรายงานว่าคนไทยภาคเหนือติดเชื้อนี้ 150 ราย เสียชีวิต 23 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่กินเนื้อสุกรดิบ

          ส่วน โรคชิคุนกุนยา และ โรคไข้เหลือง มียุงเป็นตัวแพร่เชื้อ แม้จะไม่ร้ายแรงแต่เริ่มพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นทุกปี ในปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 28 กรกฎาคม มีผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยา 34,850 รายใน 50 จังหวัด ส่วนโรคที่มีต้นตอมาจากสัตว์ปีกคือ โรคไข้หวัดนก และ โรคซาร์ส สำหรับโรคลิชมาเนียกับโรคทูลารีเมีย เกิดจากแมลง พบผู้ป่วยเพียงไม่กี่ราย ด้านโรควีซีเจดีหรือโรคสมองเสื่อมชนิดใหม่ พบในคนอังกฤษที่กินอวัยวะหรือเนื้อเยื่อของวัวที่เป็นโรควัวบ้า และยังไม่เคยพบโรคนี้ในประเทศไทย มีเพียงโรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคมือเท้าปาก และโรคเมลิออยโดซิสเท่านั้นที่เกิดจากเชื้อโรคในสิ่งแวดล้อม

          นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน เปิดเผยว่า สัตว์ที่ถูกเฝ้าระวังว่าจะแพร่เชื้อโรคให้คนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มสัตว์ที่นำเชื้อโรคมาสู่คนโดยตรง กับกลุ่มสัตว์ที่เป็นตัวเชื่อม หรือตัวกลางในการนำโรคจากที่ต่างๆ มาสู่คน เช่น พยาธิ หมัด ยุง แมลงวัน ฯลฯ ทุกวันนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คนจะเกิดเมื่อไร จะรู้ต่อเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วและมีการบันทึกตัวอย่างผู้ป่วยกับเชื้อโรคที่ค้นพบ

          " กลุ่มสัตว์ประเภทไหนอันตรายที่สุด คงเป็นสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก ที่มนุษย์ชอบเข้าไปคลุกคลี กอดจูบ ลูบคลำ เช่น หมา แมว กระต่าย หรือไก่ และหมูในฟาร์ม ที่ต้องอาศัยคนให้น้ำให้อาหารอย่างใกล้ชิด นอกจากหมัดหรือยุงที่กัดสัตว์เลี้ยงแล้วมากัดเจ้าของปล่อยเชื้อโรคให้แล้ว บางครั้งในฉี่หรือในขี้ของมันจะมีเชื้อโรคติดมาด้วย เมื่อมนุษย์สัมผัสก็ติดเชื้อโรคเข้าไป บางโรคทำให้ป่วยหนัก บางโรคแค่ทำให้ท้องเสีย ส่วนสัตว์ในฟาร์มสิ่งที่ต้องระวังคือการผสมพันธุ์ระหว่างเชื้อโรคคนกับเชื้อโรคสัตว์ เหมือนไข้หวัดนก ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดระลอกสองเมื่อไร และไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดอยู่นี้จะส่งผลต่อไวรัสไข้หวัดนก จนกลายพันธุ์เป็นไวรัสตัวใหม่หรือไม่ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด" นายสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน กล่าว

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์