พึงระวัง!! มะเร็งเม็ดเลือด เอ็มเอ็ม

อีกโรคหนึ่งต้องพึงระวัง!!มะเร็งเม็ดเลือด "เอ็มเอ็ม"


เพียงแค่เอ่ยถึง "มะเร็ง" คนร้อยทั้งร้อยก็สามารถรับรู้ถึงความน่ากลัวแห่งโรคภัยจากเพียงสองพยางค์สั้นๆ นั้น ในยุคนี้แม้ว่าได้มีการพัฒนาความก้าวหน้าด้านการแพทย์ไปมากแล้วก็ตาม "มะเร็ง" ก็ยังเป็นอีกหนึ่งโรค ที่ถือเป็นโรคร้ายแรง และเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก

แต่สิ่งที่อีกหลายคนยังไม่รู้ก็คือ ยังมีมะเร็งทางโลหิตวิทยาอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ฤทธิ์เดชของมัน ไม่ได้ด้อยไปกว่ามะเร็งที่อื่นๆ เลย ดังนั้นวันนี้จึงมีรายละเอียดของโรคมะเร็งเม็ดเลือดแบบ "เอ็มเอ็ม" มาแนะนำให้รู้จักกัน


ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา


"โรคเอ็มเอ็ม" คืออะไร


"เอ็มเอ็ม" (MM) หรือในชื่อเต็มๆ ว่า มัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma) เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยารูปแบบหนึ่ง

เกิดจากความผิดปกติ ในการแบ่งตัวของพลาสม่าเซลล์ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากไขกระดูก มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติในเลือด (Monoclonal protein หรือ "เอ็มโปรตีน) ซึ่งวิธีที่เราจะตรวจพบโรคนี้ได้ ต้องเป็นการตรวจแยกโปรตีนในห้องปฏิบัติการ

ฤทธิ์ร้ายของโรคเอ็มเอ็มนี้ ที่แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็หนักใจ ก็คืออาการของโรค ซึ่งการป่วยในระยะแรกนั้น ผู้ป่วยแทบไม่รู้สึกตัวเลยว่า ได้ถูกเจ้าโรคมะเร็งร้ายแบบเอ็มเอ็มเล่นงานเข้าให้แล้ว เพราะอาการเบื้องต้นของโรคนี้มีประการเดียวคือ อาการซีด และโลหิตจางเล็กน้อยเท่านั้น

ซึ่งเป็นการยากที่จะวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง ได้ด้วยอาการชี้บ่งเพียงแค่อาการเลือดจางเล็กน้อย เพราะภาวะเลือดจางนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

ดังนั้นส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าป่วยเป็นโรคเอ็มเอ็ม ก็ต้องลุกลามเข้าระยะที่2 หรือ 3 ที่มีอาการโลหิตจาง ปวดกระดูก กระดูกพรุน กระดูกหัก แคลเซียมในเลือดสูง ซึ่งก็เป็นระยะที่การรักษาถือว่าทำได้ยากแล้ว

ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอ็มเอ็ม จากหน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ระบุว่า ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคมะเร็งเอ็มเอ็มจะถูกส่งไปแผนกออร์โธปิดิกส์ หรือด้านกระดูกก่อน เพราะอาการที่แสดงออกทางร่างกายจะเป็นอาการปวดตัว ปวดหลัง กระดูกพรุน กระดูกทรุด กระดูกหัก เป็นต้น

ซึ่งกว่าจะหาพบว่าเป็นโรคอะไรก็กินเวลานานพอสมควร


เซลล์มะเร็งมัลติเพิล มัยอิโลมาเซลล์มะเร็งมัลติเพิล มัยอิโลมา


สาเหตุของ "โรคเอ็มเอ็ม"


ผศ.นพ.นพดลเปิดเผยว่า สาเหตุอันก่อให้เกิดโรคเอ็มเอ็มนั้น ไม่สามารถระบุชัดลงไปได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ โรคนี้ไม่ได้ติดต่อกันโดยกรรมพันธุ์ ไม่มีสาเหตุระบุชัดถึงปัจจัยการเกิด

เว้นแต่มีสมมติฐานว่า ในพื้นที่ที่มีกัมมันตภาพรังสีมาก เช่นในพื้นที่ที่เคยทดลองนิวเคลียร์หรือที่เคยถูกระเบิดนิวเคลียร์ จะมีสัดส่วนของอัตราผู้ป่วยโรคนี้มาก ก็พออนุมานได้ว่ากัมมันตภาพรังสีมีผลเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดโรคดังกล่าว

"กล่าวได้ว่าเอ็มเอ็มเป็นโรคที่ป้องกันได้ยากโรคหนึ่ง เพราะว่าเราไม่รู้มันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ทุกวันนี้ยังไม่มีผลการวิจัยศึกษาปัจจัยการเกิดโรค คืออยู่ๆ มันก็เป็นขึ้นมาเอง เราจะทำได้เพียงเช็คร่างกาย คือตรวจเลือดทุกปี หรือทุก 6 เดือน

หากเกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง ก็ให้สงสัยเอาไว้ แม้ว่าภาวะซีดจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่การสงสัยไว้ก่อน จะเป็นทางป้องกันที่ดีที่สุด" ผศ.นพ.นพดลกล่าว


พึงระวัง!! มะเร็งเม็ดเลือด เอ็มเอ็ม


อาการของโรค


ตามธรรมชาติของร่างกายแล้ว "พลาสมาเซลล์" จะทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย แต่เมื่อผู้ป่วยได้ป่วยเป็นโรคเอ็มเอ็มแล้ว พลาสม่าเซลล์จะถูกเปลี่ยนให้เป็นเซลล์มะเร็งและไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ตามปกติ

แต่จะสร้างเอ็มโปรตีนขึ้นมา พร้อมกับหลั่งสารเคมีที่ผิดปกติออกมาสู่ร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อไขกระดูก ตลอดจนอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายด้วย


ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเอ็มเอ็ม

ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย , เลือดแข็งตัวช้าหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด,โปรตีนในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไตวาย ขาบวม ซีด , กระดูกถูกทำลาย กระดูกพรุน กระดูกหัก ปวดกระดูก เกิดการยุบตัวของไขสันหลัง , แคลเซียมในเลือดสูงขึ้น เกิดภาวะขาดน้ำ อ่อนเพลีย ซึม สับสน มีอาการท้องผูก , การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ติดเชื้อง่าย

ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุหลักอันหนึ่งของการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคนี้ก็คือ จากการติดเชื้อเนื่องจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอและภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ และเลือดออกในสมอง


พึงระวัง!! มะเร็งเม็ดเลือด เอ็มเอ็ม


กลุ่มอายุของผู้ป่วยโรคเอ็มเอ็ม


"มัลติเพิล มัยอิโลมา" พบมากในวัยผู้ใหญ่ อายุเฉลี่ยประมาณ 60 ปี แต่ก็มีพบบ้างในผู้ป่วยที่อายุน้อย คิดเป็นสัดส่วนวัย 60 ปี 90 95% และวัยต่ำกว่า 40 ปี อยู่ที่ประมาณ 5-10% และจากสถิติแล้ว

ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วย โรคมัลติเพิล มัยอิโลมา รายใหม่ในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 15,000 คน ส่วนในประเทศแถบเอเชีย คิดสัดส่วนต่อประชากร 1 แสนคน จะพบผู้ป่วย 0.8 คนในประเทศสิงคโปร์ และ 2 คนในประเทศเกาหลี สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่มีการบันทึกเอาไว้เป็นสถิติที่แน่ชัด

แต่จากฐานข้อมูลล่าสุดของโรงพยาบาลศิริราช พบว่ามีผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคนี้ปีละประมาณ 40 50 คน สัดส่วนผู้ป่วยชาย : ผู้ป่วยหญิง อยู่ที่ 1.2 : 1 ราย และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี และอายุเฉลี่ยสำหรับผู้ป่วยโรคนี้คือ 60 ปี


หนทางการรักษา


มะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทมัลติเพิล มัยอิโรมา นั้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่เดินทางมาเข้ารับการรักษาจะมีอาการอยู่ในระยะที่ 2 หรือ 3 ผศ.นพ.นพดลให้เหตุผลว่า

เนื่องจากอาการป่วยในระยะแรก ผู้ป่วยแทบไม่รู้สึกตัว จนต้องมีอาการทางกายก่อน ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดกระดูก ถึงจะมาพบแพทย์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นระยะโรคที่ค่อนข้างอันตรายแล้ว

ปัจจุบันการรักษาโรคดังกล่าวนี้มีอยู่สองวิธี คือ

การให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด และ
อาจมีการฉายแสงร่วมด้วยเพื่อลดความเจ็บปวดจากอาการปวดกระดูก

สำหรับยาเคมีบำบัด ที่ให้จะมีอยู่หลายสูตร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะจัดสูตรยาตามอาการป่วยของโรค

ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งความหวัง ของผู้ป่วยโรคนี้ ในขณะนี้ได้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดสูตรต่างๆ เพื่อให้ลงตัวเหมาะสมกับคนไข้ และออกฤทธิ์มีประสิทธิภาพในการกำจัดโรคมากที่สุด ต่างจากในอดีตที่มีเพียงยากินเท่านั้น

อีกวิธีหนึ่งคือ การปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าวิธีแรก เพราะมีความเสี่ยงในช่วง 6 สัปดาห์แรกในการปลูกถ่ายค่อนข้างมาก และเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ข้อดีก็คือ หากร่างกายตอบสนองกับวิธีการรักษาดังกล่าว จะช่วยสามารถยืดอายุผู้ป่วยให้อยู่นานขึ้นได้



ขอขอบคุณ : ข้อมูลด้านสุขภาพ

พึงระวัง!! มะเร็งเม็ดเลือด เอ็มเอ็ม

โดย ผู้จัดการออนไลน์
จาก หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์