เผยสาเหตุคนขับรถยนต์ไม่เก่ง มีหน่วยพันธุกรรมผิดปกติ
เผยข้อมูลใหม่อาจช่วยให้คนขับรถไม่เก่งพอมีกำลังใจ และกล่าวโทษบรรพบุรุษได้ว่าเป็นตัวการของอาการขับรถไม่เก่ง เพราะพันธุกรรมไม่ดี
สตีเฟน เครเมอร์ นักประสาทวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์วิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ในร่างกายของคนที่ขับรถไม่เก่งและจดจำทักษะต่างๆ ในการขับรถไม่ค่อยได้ จะมียีนหรือพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งสกัดกั้นไม่ให้โปรตีน "Brain-derived neurotrophic factor" หรือ "บีดีเอ็นเอฟ" ทำงาน โดยตามปกติโปรตีนตัวนี้จะช่วยให้เซลล์สมองของมนุษย์มีความจำและมีปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งรอบๆ ตัวดีขึ้น
สมมติฐานของเครเมอร์ได้จากการทดลองแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม รวม 29 คน ในจำนวนนี้ 22 คนไม่มียีนเจ้าปัญหาดังกล่าว ส่วนอีก 7 คนมี จากนั้นให้แต่ละคนฝึกขับรถในระบบฝึกหัดขับรถเสมือน หรือระบบซิมูเลเตอร์ 15 รอบ แต่ละรอบจะมีอุปสรรครอการแก้ปัญหาต่างๆ กันไป เพื่อให้คนขับเรียนรู้วิธีขับขี่อย่างปลอดภัย เมื่อการขับซิมูเลเตอร์เสร็จสิ้นจึงบันทึกข้อมูลเก็บไว้ และให้อาสาสมัครกลุ่มเดิมมาขับอีกครั้ง 4 วันต่อมา
ผลพบว่า อาสาสมัครกลุ่ม 7 คนที่มียีนขับรถไม่เก่ง ทำคะแนนการขับขี่แย่กว่าอีกกลุ่มถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น เมื่อทดลองซ้ำอีกครั้งยังได้ผลลัพธ์ออกมาเช่นเดิม การวิจัยครั้งนี้แม้มีผู้ร่วมทดลองน้อย แต่ก็ช่วยบ่งชี้ความผิดปกติบางอย่างที่ถ่ายทอดผ่านทางกรรมพันธุ์จากคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายมาถึงคนรุ่นหลัง
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของเครเมอร์ชี้ว่าการมียีนดังกล่าวไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะผลการศึกษาอีกหลายๆ ชิ้นพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันและโรคปลอกหุ้มเส้นประสาทอักเสบ ซึ่งล้วนแต่มีความผิดปกติของยีนประเภทเดียวกันนี้ จะมีอาการทางจิตที่ดีกว่าคนที่ปราศจากยีนตัวเดียวกัน