สตรีตั้งครรภ์อายุมาก ตรวจคัดกรองทารกดาวน์ซินโดรม
สูตินรีแพทย์ เตือนสตรีตั้งครรภ์ตอนอายุมาก เสี่ยงมีโอกาสคลอดทารกดาวน์ซินโดรมสูง ขณะที่หญิงตั้งครรภ์อายุน้อยมีความเสี่ยงเช่นกัน แต่มีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า แนะควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ทารกดาวน์ทุกราย
พ.ญ.ปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ สูตินรีแพทย์ สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า ปัจจุบันผู้หญิงไทยแต่งงานช้าลง ดังนั้น การเกิดความกังวลของผู้หญิงอายุสามสิบขึ้นไปต่อการมีลูกเมื่ออายุมากก็จะมีมากเนื่องจากเวลาตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดทารกดาวน์ ทั้งสิ้น และจะเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงวัย 35 ปีขึ้นไปถือว่ามีความเสี่ยงสูงราว 1 ใน 270 ราย ทั้งยังจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากโครโมโซมผิดปกติ
ส่วนผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ทารกดาวน์ได้ แต่ความเสี่ยงไม่สูงมาก เช่น ผู้หญิงอายุ 25 ปี จะมีความเสี่ยงประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจุดนี้การตรวจคัดกรองจะมีประโยชน์มาก เพราะในคุณแม่อายุน้อย ความเสี่ยงไม่สูงพอที่จะมีข้อบ่งชี้ในการเจาะน้ำคร่ำ แต่ก็ยังมีโอกาสเกิดได้
สำหรับการตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดมารดาหรือวิธีอื่นๆ ก็มีประโยชน์มากเช่นกันในการช่วยเพิ่มความไวในการตรวจทารกดาวน์ ได้มากขึ้น
ซึ่งมีรูปแบบการตรวจ 2 วิธี คือ วิธี NT+PAPP-A (การตรวจวัดความหนาเนื้อเยื่อคอทารก+การเจาะระดับสาร PAPP-A) เป็นการตรวจตั้งแต่สามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ วิธีที่สองคือการตรวจ Triple Screening หรือ Triple Test เป็นการตรวจในช่วงอายุครรภ์ 14-24 สัปดาห์ แต่ควรทำที่อายุครรภ์ที่เหมาะสมที่สุดคือ 16-20 สัปดาห์
พ.ญ.ปิยะรัตน์ กล่าวว่า การตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์และการเจาะน้ำคร่ำ โดยคุณแม่ที่อยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ ได้แก่ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุ 35 ปีขึ้นไป คุณแม่มีประวัติบุตรมีโครโมโซมผิดปกติหรือการตรวจคัดกรองเป็นผลบวก
"การดูแลตัวเองให้พร้อมก่อนจะเป็นแม่ด้วยการตรวจคัดกรองการตั้งครรภ์ของทารกกลุ่มอาการดาวน์ฯ และตรวจความผิดปกติการตั้งครรภ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ช่วยตรวจคัดกรองและช่วยลดความกังวลใจให้กับคุณผู้หญิงที่แต่งงานช้าหรือมีลูกตอนอายุมากได้เป็นอย่างดี" พ.ญ.ปิยะรัตน์ ระบุ