เมื่อวัยรุ่นของเราน้ำหนักเกิน
เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองย่อมอดเป็นห่วงไม่ได้ แนะนำผู้ปกครองดูแลลูกหลาน พร้อมเสนอทางเลือก เผื่อจะลองนำไปปฏิบัติให้ได้ผล.....
ถึงแม้ว่าลูกของเราจะมิได้เป็นนักมวยขึ้นชกบนเวที แต่การที่วัยรุ่นเริ่มจะมีน้ำหนักเกิน หรือตุ้ยนุ้ยเกินงาม ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองย่อมอดเป็นห่วงไม่ได้ เพราะมันส่งผลไม่ค่อยดีนักต่อสุขภาพของพวกเขาเอง
เว็บไซต์ http://voices.washington post.com ชวนคุยและให้คำแนะนำไว้น่าสนใจ โดยบอกว่าสถิติของรัฐบาลกลางพบว่าเด็กและวัยรุ่นอเมริกันเกือบหนึ่งในสามอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน หรืออ้วนลงพุง
ผู้เขียนคอลัมน์นั้นได้ลองให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองเผื่อจะลองนำไปปฏิบัติให้ได้ผลกัน นั่นคือ
- ผู้ปกครองควรจะไปพบแพทย์เพื่อให้ช่วยประเมินว่าน้ำหนักของลูกสาวลูกชายวัยรุ่นนั้นจัดอยู่ในขั้นหนักเกินไปแล้วหรือเปล่า เพราะแพทย์จะดูเรื่องนี้อย่างเป็นกลางและไม่ใส่อารมณ์ จะได้วางแผนบนเกมนี้ได้ถูก
- ตั้งแต่วัยเด็กควรสอนให้มีนิสัยในการกินที่ถูกสุขอนามัยเพราะไม้อ่อนย่อมดัดง่ายกว่าตอนเป็นวัยรุ่น ทั้งยังต้องเตรียมให้เด็กไม่ละทิ้งสุขนิสัยเหล่านั้นอีกด้วย เพราะพ่อแม่ไม่สามารถตามไปคุมอาหารของลูกได้ทุกมื้อ
- คำว่า "ไดเอท" เป็นคำต้องห้าม แทนที่จะพูดเรื่องลดน้ำหนักตรงๆ ก็น่าจะชวนคุยในหัวข้อการกินอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังให้เป็นนิสัย จะช่วยปลูกฝังสุขนิสัยไปอย่างยืนยาวตลอดชีวิต
- ควรจัดอาหารที่เป็นประโยชน์ ต่อสุขภาพ แต่ก็ยอมให้ตามใจตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว
- ช่วยให้วัยรุ่นได้รู้คิดว่าเมื่อไรที่เขาหรือเธอหิวขึ้นมาจริงๆ หรือว่ากินเพราะไม่มีอะไรทำ
- อาจช่วยให้วัยรุ่นช่วยวางแผนรายการอาหารและไปซื้ออาหารด้วยกัน
- เด็ก ๆ ควรจะได้นอนอย่างเต็มที่คืนละ 8-9 ชั่วโมง และต้องกินอาหารเช้าเป็นประจำ
- สังเกตดูว่าวัยรุ่นใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปหรือเปล่า ไม่ว่าจะจอโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรือวีดิโอก็ตามที แล้วค่อยจำกัดเวลาให้เหมาะสม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ให้คำแนะนำว่าไม่ควรอยู่หน้าจอเกินวันละ 2 ชั่วโมง
- ขยายคำนิยามกิจกรรมออกกำลังออกไปยังเรื่องที่เด็กทำแล้วสนุกและได้ออกแรง ไม่ว่าจะเต้นรำ เล่นฮูลาฮูป เตะบอล เป็นต้น
- ข้อสุดท้ายนี่สำคัญมากคือ อย่าปล่อยให้วัยรุ่นทำกิจกรรมสุขภาพคนเดียว เรื่องนี้ทั้งครอบครัวต้องช่วยกันสร้างสุขนิสัยในการกินและออกกำลังไปด้วยกันจึงจะได้ผล.