ริดสีดวง...เป็นแล้วอย่าชะล่าใจ
ขึ้นชื่อว่า “ริดสีดวงทวารหนัก” ก็พาลให้นึกถึงวลีสุดฮิต “ลมมันเย็นนนนน” ที่สะท้อนความยากลำบากในการขับถ่ายและความเจ็บปวดในการนั่ง นับตั้งแต่อาการแสบๆ คันๆ จนถึงปวดขนาดลุกนั่งสะท้านใจ!
แม้ริดสีดวงจะไม่ร้ายแรงถึงชีวิตแต่ก็ไม่ควรมองข้ามสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงยิ่งต้องระวัง มิฉะนั้นอาจสายเกินไป
ริดสีดวง... ชื่อนี้ไม่ได้มีแต่เสีย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าหากมีอาการคัน เจ็บและแสบบริเวณปากทวารและมีเลือดออกเมื่อขับถ่ายอุจจาระ เป็นสัญญาณบ่งบอกของริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งความจริงแล้วอาจมาจากสาเหตุอื่นที่คล้ายกัน เช่น แผลแยกบริเวณปากทวาร ฝี โรคติดเชื้อของลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เกิดการอักเสบจากเชื้อรา ฯลฯ แต่ด้วยความที่เกิดใกล้ๆ กับบริเวณปากทวารจึงทำให้คนเข้าใจผิด และเหมารวมว่าเป็นริดสีดวงทวารไปเสีย ดังนั้นเพื่อความเข้าใจรวมถึงแนะวิธีสังเกตและรักษาริดสีดวงทวารหนักอย่างถูกต้อง นพ.ชิงเยี่ยม ปัญจปิยะกุล ศัลยแพทย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “โดยธรรมชาติทุกคนมีริดสีดวงทวารอยู่แล้ว คือเป็นเนื้อเยื่อภายในช่องทวารอยู่เหนือปากทวารหนักประมาณ 3 เซนติเมตร หรือที่เรียกว่าเบาะรอง (cushion) มีอยู่ 3 ตำแหน่ง ซึ่งหากเปรียบกับทิศทางนาฬิกาก็คือ ตำแหน่งที่ 3, 7 และ 11 นาฬิกา เนื้อเยื่อเหล่านี้ช่วยทำให้การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปอย่างสะดวก ไม่ทำให้ทวารหนักฉีกขาดและทำให้รูทวารหนักปิดสนิท ไม่มีอุจจาระเล็ดรอด แต่ “ริดสีดวง” ที่เป็นผู้ประสานงานอย่างดีจะกลายเป็นตัวปัญหาก่อให้เกิดความรำคาญ เมื่อหลอดเลือดบริเวณนั้นผิดปกติอันเนื่องมาจากท้องผูกเป็นประจำ ทำให้ต้องเบ่งมากทุกครั้งที่ถ่าย นั่งห้องน้ำนานๆ เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ในห้องน้ำ หรือพยายามเบ่งถ่ายทั้งๆ ที่ไม่ปวดถ่าย หรือในกรณีของผู้สูงอายุที่กล้ามเนื้อหย่อนยาน หญิงตั้งครรภ์ที่มดลูกขยายใหญ่เบียดอุ้งเชิงกรานทำให้เลือดบริเวณนั้นไหลกลับไม่สะดวก เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคตับแข็งและม้ามโต ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเบาะรองเกิดการโป่งพอง และขยายตัวเป็นก้อนเบียดออกด้านข้างหรือเลื่อนต่ำลงมา จนกลายเป็นริดสีดวงทวารหนักที่เป็นปัญหา”
ชนิดของริดสีดวงทวารหนัก
ริดสีดวงทวารหนักแบ่งเป็นสองชนิดตามลักษณะตำแหน่งการเกิด นั่นคือ
- ริดสีดวงภายนอก เป็นติ่งเนื้อเยื่อที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้รอบๆ ทวารหนัก อาจมีอาการคันจนกระทั่งเจ็บปวดมาก ทำให้รบกวนการลุกนั่งไม่สะดวก วิธีการรักษาคือ ผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหา
- ริดสีดวงทวารหนักภายใน มักไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เพราะเกิดอยู่ภายในทวารเหนือเส้นประสาทรับความรู้สึก อาการที่สังเกตได้คือ มีเลือดออกสีแดงสดหลังถ่ายอุจจาระ คนที่เป็นมากๆ อาจเห็นเป็นหยดเลือดไหลเป็นสายบริเวณโถส้วม ซึ่งริดสีดวงทวารหนักภายในสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะตามความรุนแรงที่เป็นคือ
ระยะที่ 1 เมื่อส่องกล้องตรวจดูจะพบว่ามีเพียงติ่งเนื้อยื่นออกมา สามารถรักษาด้วยการแช่ก้นด้วยน้ำอุ่น การใช้ยาเหน็บ ยาทา และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ นั่นคือกินผักและผลไม้เพื่อเพิ่มกากใยอาหารเพื่อป้องกันท้องผูก
ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงทวารหักโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปเองหลังถ่ายอุจจาระ ติ่งเนื้อยื่นออกมาบ่อยเวลาถ่าย มีเลือดออกเช่นเดียวกับระยะที่ 1 บวกกับอาการคัน หรือมีมูกแฉะบริเวณทวารหนักร่วมด้วย วิธีการรักษาคือการฉีดยาทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นหดตัวฝ่อ หรือการใช้หนังยางพิเศษรัดเพื่อทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือด ทำให้เนื้อเยื่อตายแล้วหลุดออกมาเองประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งคนที่เป็นจะไม่รู้สึกเจ็บ ไม่ต้องวางยาสลบ และ สามารถกลับบ้านได้เลย ทั้งนี้ระหว่างที่เนื้อเยื่อหลุดออกจะมีเลือดซึมออกมาบ้าง จึงต้องใช้ผ้าอนามัยรองซับ
ระยะที่ 3 และ 4 มีลักษณะใกล้เคียงกันคือ หัวริดสีดวงทวารหนักจะโผล่ออกมาเวลาเบ่งถ่ายอุจจาระ ไอ จาม การยกของหนัก ระยะนี้จำเป็นต้องใช้มือดันเข้าไป แต่ก็มักโผล่ออกมาอีก กลายเป็นติ่งยื่นอยู่ภายนอกทวาร หากหัวริดสีดวงทวารหนักเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ ก็จะสร้างความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก ซึ่งระยะนี้มักพบว่าเป็นทั้งริดสีดวงภายนอกและภายในพร้อมกัน จำเป็นต้องใช้การผ่าตัดรักษา ซึ่งปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดใช้มีดปกติ การใช้เลเซอร์ การใช้เครื่องมือตัดเย็บหัวริดสีดวงอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการตัดควั่นเอาริดสีดวงทวารหนักภายในและเย็บทันที เป็นต้น การเลือกวิธีการผ่าตัดต้องพิจารณาความเหมาะสมตามความรุนแรงและขนาดของริดสีดวงทวารหนักของแต่ละคน บวกกับความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ แต่ที่สำคัญคือ วางใจได้ว่าหลังการผ่าตัดแล้วหูรูดจะไม่เสียอย่างที่เข้าใจกัน
การดูแลตัวเองหลังการรักษาหรือผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก
การรักษาริดสีดวงทวารหนักในระยะต้นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาแบบไปเช้าเย็นกลับ สามารถทำได้ที่คลินิกและโรงพยาบาล ยกเว้นกรณีที่ต้องผ่าตัดรักษา คุณหมอจะต้องวางยาสลบและให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลเพื่อดูอาการต่อสักระยะ ทั้งนี้การดูแลรักษาตนเองหลังการรักษาหรือผ่าตัดริดสีดวงทวารหนักที่สำคัญก็เช่น
- การแช่ก้นในน้ำอุ่นเช้า-เย็น ครั้งละ 15-30 นาที ในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อทำให้แผลริดสีดวงทวารที่เพิ่งผ่าตัดสะอาด ลดการติดเชื้อ บวมและแสบได้ดี แต่หากไม่สะดวกสามารถใช้สายชำระฉีดทำความสะอาดตามปกติได้เช่นกัน โดยไม่ต้องใช้สบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดเฉพาะที่ใดๆ
- หลีกเลี่ยงการสวนทวารด้วยยาสวน เพราะอาจระคายแผลที่เพิ่งรักษาเกิดการบวม และอักเสบได้ โดยเฉพาะการรัดหนังยาง แต่ระหว่างนี้อาจกินยาระบายเพื่อช่วยทำให้อุจจาระนิ่ม แผลที่เพิ่งผ่าตัดก็จะหายเร็วมากขึ้น
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายเสียใหม่ เพื่อป้องกันการกลับไปเป็นริดสีดวงทวารหนักอีกครั้ง นั่นคือพยายามอย่าให้ท้องผูก ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผัก ผลไม้และธัญพืชที่มีกากใยอาหารมาก ไม่นั่งห้องน้ำนานๆ หากไม่ปวดถ่าย การไม่กลั้นอุจจาระ การไม่ใช้ยาระบายพร่ำเพรื่อจนทำให้เกิดอาการท้องผูก
ริดสีดวงทวารหนัก VS มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
คุณหมอชิงเยี่ยมตอบข้อสงสัยนี้ที่มีคนถามกันมากว่า “การเป็นริดสีดวงทวารหนักไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แต่ริดสีดวงเป็นสาเหตุที่ทำให้เรามองข้ามถึงสัญญาณอันตรายที่เตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เนื่องจากทั้งสองอาการมีสาเหตุอย่างเดียวกันคือ ท้องผูกเรื้อรัง แถมยังมีเลือดออกทางทวารหนักคล้ายคลึงกัน ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการขับถ่ายอุจจาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มากกว่า 50 ปีขึ้นไป หมอแนะนำว่าให้มาตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อย่าเดาเอาเอง เพราะนอกจากจะรักษาไม่ตรงจุดหรือถูกวิธีแล้ว มันอาจเป็นการตัดโอกาสในการรักษาที่จะตัดไฟแต่ต้นลมหากเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก”
ริดสีดวงทวารหนักจะไม่เป็นที่หนักใจแน่ๆ หากรีบไปตรวจหาสาเหตุเสียแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าเป็นไม่มากก็เท่ากับเจ็บตัวน้อยนะคะ