ขณะที่เรากำลังใช้มีด บางครั้งอาจจะเผลอทำมีดบาดตัวเอง แต่ทันทีทันใดนั้น ร่างกายของเราก็จะเริ่มซ่อมแซมบาดแผลที่เกิดขึ้นทันที สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ภายในเวลาไม่กี่นาที ปลายเส้นเลือดที่ขาดก็ถูกหยุดด้วย เกล็ดเลือด ( platelets ) และเส้นใยโปรตีนที่เรียกว่า ไฟบริน ( fibrin ) เลือดที่ออกมาอยู่ในแผลก็จะแข็งตัวกลายเป็นสะเก็ดคลุมแผลอยู่
บาดแผลหายได้อย่างไร ?
ร่างกายเริ่มส่งเลือดมายังบริเวณบาดแผลเพิ่มขึ้น เม็ดเลือดขาวที่มากับกระแสเลือดก็จะคอยฆ่าพวกเชื้อโรคที่บุกรุกเข้ามา คอยจับทำลายพวกเซลล์ที่ตายแล้วและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ขณะเดียวกัน เซลล์ชั้นนอกสุดของผิวหนัง ( epidermal cell ) ก็จะแบ่งตัว และเคลื่อนที่จากขอบแผลทั้งสองข้างเข้ามาบรรจบกันใหม่ ตรงกลายภายใต้สะเก็ดเลือด บาดแผลก็จะถูกคลุมด้วยชั้นเซลล์เหมือนเดิม เส้นเลือดในบริเวณนั้นจะเจริญ แทงเข้ามายังบาดแผลเพื่อนำออกซิเจนและอาหารมาเลี้ยง เซลล์ที่เรียกว่า ไฟโบรบลาสต์ ( fibroblast ) จะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างเนื้อเยื่อมาเสริมบริเวณบาดแผลให้เต็มโดยการผลิต คอลลาเจน ( collagen ) ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีความเหนียว ทำให้บาดแผลมีความแข็งแรง ขณะเดียวกันไฟโบรบลาสต์จะหดตัว ทำให้บาดแผลสองข้างชิดกันเข้ามามากขึ้น ปลายเส้นประสาทที่ขาดก็จะค่อย ๆ สอดเข้าไปในแผลเพื่อให้ความรู้สึกบางส่วนของบริเวณนั้นกลับคืนมา เส้นเลือดต่าง ๆ ก็จะงอกเข้าหากันจนประสานกันเป็นร่างแหอยู่ภายในบาดแผล
ในที่สุด สะเก็ดเลือดบนแผลก็หลุดออกไป ผิวหนังก็กลับมาประสานกันเหมือนเดิม เนื้อเยื่อภายใต้นั้นก็จะหนาแน่นไปด้วยไฟโบรบลาสต์และเส้นใยคอลลาเจน ซึ่งจะค่อย ๆ เรียงตัวให้อยู่ในแนวที่รับความตึงเครียดได้ดีที่สุด เพื่อให้บาดแผลที่หายแล้ว มีความแข็งแรงเหมือนเดิม