สัตว์หลายชนิด มีเชื้อพันธุ์ที่ควบคุมการงอกใหม่ของอวัยวะได้
สัตว์หลายชนิดรวมทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สะเทินน้ำสะเทินบก และสัตว์น้ำบางชนิด เมื่อส่วนที่ยื่นออกมาจากร่างกายอย่าง ขา หรือ หาง ขาดหลุดหรือเสียหายไป จะสร้างส่วนนั้นๆ ให้งอกกลับขึ้นมาใหม่ได้เหมือนเดิม
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ กำลังศึกษาความสามารถพิเศษดังกล่าวในสัตว์มีกระดูกสันหลัง และไม่มีกระดูกสันหลังบางจำพวก เพื่อดูว่า gene หรือเชื้อพันธุ์ตัวไหนที่ควบคุมการงอกใหม่ของอวัยวะนอกลำตัวอย่างแขนขาหรือหาง และเพราะเหตุใดมนุษย์จึงไม่มีความสามารถพิเศษ ที่เป็นประโยชน์นี้ และมีช่องทางที่จะทำให้มนุษย์มีความสามารถเช่นนั้นได้หรือไม่
Randy Dahn นักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิจัยทางชีววิทยา Mount Desert Island Biological Laboratory ใกล้เมือง Bar Harbor รัฐ Maine และคณะ กำลังศึกษาเรื่องนี้โดยใช้ปลากระเบนขนาดเล็กพันธุ์หนึ่ง งานวิจัยนี้อาศัยพื้นฐานการศึกษาที่ทำกันมาหลายสิบปีแล้ว เกี่ยวกับวิธีที่สัตว์อย่าง จิ้งเหลน จิ้งจก มีขาและหางงอกกลับขึ้นมาใหม่ได้ นักวิทยาศาสตร์พอมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการที่เนื้อเยื่อของสัตว์เหล่านั้นประสานตัวกันอย่างไร ในกระบวนการที่อวัยวะงอกกลับขึ้นมา แต่ความยากท้าทายที่แท้จริงนั้น อยู่ที่การทำความเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นในระดับโมเลกุล
มีการหยิบยกเรื่องการงอกกลับขึ้นมาใหม่ ของอวัยวะดังกล่าวนี้ขึ้นมาอภิปรายกันในการประชุมที่ศูนย์การแพทย์กองทัพบกสหรัฐ Walter Reed ในกรุงวอชิงตันเมื่อเร็วๆ นี้
ศัลยแพทย์ Roy Aaron ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์เพื่อการฟื้นฟูอวัยวะ ที่มหาวิทยาลัย Brown รัฐ Rhode island อธิบายว่า เมื่อเกิดบาดแผลขึ้นมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะสร้างมวลสารที่เรียกว่า Blastima ขึ้นมาทำให้แผลสมานตัว เมื่อแผลหายก็กลายเป็นแผลเป็น แล้วไม่มีการงอกกลับขึ้นมาใหม่ อย่างไรก็ตาม มนุษย์เราสามารถที่จะสร้างส่วนที่เสียหาย ของอวัยวะภายในบางอย่างให้งอกกลับขึ้นมาใหม่ได้ อย่าง ตับ ไต หรือภายนอกอย่างผิวหนัง เมื่อได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ แต่การที่ร่างกายยอมรับเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายนั้น เป็นกระบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน อย่างกระบวนการที่จะทำให้ส่วนของร่างกายที่มีความยุ่งยากซับซ้อน อย่างแขนขางอกกลับขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะส่วนดังกล่าวมีทั้งกระดูก ในกระดูกยังมีไขกระดูกด้วย แล้วก็มีกระดูกอ่อน เอ็น เส้นเลือด เส้นประสาท กล้ามเนื้อ และผิวหนัง
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การที่จะทำให้ส่วนประกอบต่างๆ เหล่านี้งอกกลับคืนมา รับรู้ทำงานประสานกันในสภาพแวดล้อมเดียวกัน และให้กลับทำงานได้อย่างเต็มที่นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่างที่จะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ
นายแพทย์ George Weightman ผู้อำนวยการสมทบของสถาบันฟื้ฟูอวัยวะ ที่ศูนย์การแพทย์ของมหาวิทยาลัย Wake Forest กล่าวว่า เป้าหมายอย่างแรกในการศึกษาขณะนี้คือ จะทดลองปลูกสร้างอวัยวะเล็กๆ อย่างปลูกให้นิ้วมือให้งอกกลับขึ้นมาได้อย่างไร และเป้าหมายที่สมเหตุสมผลตอนนี้ คือการทำความเข้าใจพื้นฐาน ในระดับโมเลกุลของกระบวนการดังกล่าว จากนั้นจึงจะโยกย้ายถ่ายโอนจากผลการวิจัยไปยังการทดลอง ซึ่งจะทำกับหนูทดลองหรือไก่ ซึ่งใกล้กับคนเข้ามา
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เห็นว่า คงจะอีกหลายชั่วคนที่แนวคิด ที่จะปลูกสร้างแขนขามนุษย์ให้งอกกลับคืนมา จะกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้
ศัลยแพทย์ Roy Aaron กล่าวว่า ตอนนี้ ผลงานด้านแขนขาเทียมใหม่ๆ ที่ควบคุมด้วย microprocessor เชื่อมโยงกับระบบประสาทกำลังมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และว่าแขนขาเทียมจะเป็นความหวังที่ดีที่สุด ของผู้ที่สูญเสียแขนขาในระยะใกล้นี้
บทความจาก VOANEWS