การนำพริกและสารสกัดจากพริกมาใช้ทางยา
พริกที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นพริกในสกุล Capsicum วงศ์ Solanaceae ซึ่งมีหลายชนิดที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ พริกขี้หนูหรือพริกแกว (Capsicum frutescens linn.) พริกหยวก (Capsicum annuam Linn.)
พริกเป็นพืชล้มลุกที่ปลูกได้ทั่วไปในเขตที่มีอากาศอบอุ่นหรือเขตร้อน เช่น อาฟริกา เม็กซิโก อินเดีย สหรัฐอเมริกา ไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในเมืองไทยเรานิยมปลูกกันมากเพื่อเป็นพืชสวนครัว พริกเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งซึ่งปลูกเพื่อเอาผล (หรือเรียกกันทั่วไปว่าเม็ด) ไปขาย ลักษณะเด่นของพริกที่เป็นที่รู้กันทั่วไปคือ รสเผ็ดร้อน พริกแต่ละชนิดจะมีรสเผ็ดร้อนมาก-น้อยต่างกัน ส่วนที่เผ็ดที่สุดของพริกไม่ได้อยู่ตรงส่วนที่เห็นว่าเป็นสีเขียวหรือสีแดงที่เห็นภายนอก แต่จะเป็นบริเวณไส้ในและเมล็ด ซึ่งบริเวณนี้จะมีสารที่ให้รสเผ็ดร้อนมาก ได้แก่ capsaicin, dihydrocapsaicin, nordihydrocapsaicin โดยมีปริมาณ 0.1-1% นอกจากพริกจะปลูกเพื่อใช้ปรุงรสในอาหารแล้ว พริกยังมีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น
- ช่วยเจริญอาหาร โดยกระตุ้นให้การหลั่งน้ำลายเพิ่มขึ้น เอนไซม์ในน้ำลายช่วยย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล ทำให้รู้สึกว่าอาหารมีรสชาติดีขึ้น พริกยังกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ สาร capsaicin ในพริกซึ่งมีรสเผ็ดร้อน ทำให้เกิดการระคายเคืองในปากและทางเดินหายใจ กระตุ้นให้เกิดการขับเสมหะ ทำให้เมือกที่ติดบริเวณหลอดลมหรือทางเดินหายใจขับออกมาได้ง่าย ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น
- บรรเทาอาการปวด สารสำคัญจากพริกคือ capsaicins สามารถระงับอาการปวดได้ จากการทดลองทา capsaicin บริเวณผิวหนัง capsaicins จะผ่านเข้าสู่ผิวหนังไปออกฤทธิ์ต่อเซลล์ประสาทและไปลดหรือชะลอการหลั่ง neuropeptide substance P จากเซลล์ประสาทรับความรู้สึกส่วนปลาย เป็นผลให้สมองส่วนกลางรับรู้การเจ็บปวดช้าลง ทำให้ลดอาการปวด
- ผลต่อหลอดเลือด เมื่อนำสารสกัดจากพริกมาทาผิวหนังจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและการไหลเวียนของเลือดเพิ่มขึ้น จึงนิยมนำมาเป็นส่วนผสมในตำรับยาหม่อง
- ฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรีย Capsaicin มีผลยับยั้งการเจริญของเชื้อ Bacillus cereus และเชื้อ Bacillus subtilis