นาฬิกาชีวิตรวน-เพิ่มเสี่ยงป่วยความดันสูง
นักวิจัยมหาวิทยาลัยเกียวโด ญี่ปุ่น เผยว่า ถ้าระบบการทำงานของ "นาฬิกาชีวภาพ" ในร่างกายคนเราถูกรบกวน อาจส่งผลต่อความดันโลหิต และทำให้เป็นโรคหัวใจง่ายขึ้น
ดังนั้น บุคคลที่ต้องทำงานเป็นกะ เช่น พนักงานบนเที่ยวบินระยะทางไกลๆ หลับพักผ่อนไม่เป็นเวลา จึงต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ "นาฬิกาชีวภาพในร่างกายมีอิทธิพลต่อปัจจัยเสี่ยงด้านยีน (พันธุกรรม) ที่ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสียหายและโรคอื่นๆ" นักวิจัย ระบุ
นาฬิกาชีวภาพประกอบด้วยการทำงานของยีนหลายตัว ผลการทดลองในหนูพบว่า จังหวะการทำงานของนาฬิกาชีวภาพที่ผิดปกติไป ทำให้หนูขาดโมเลกุล "คริปโตโครม"
ส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดอาการความดันโลหิตสูงมากขึ้น เพราะมีฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนสูงผิดปกติ ทำให้แคลเซียมถูกดูดกลับเข้าไตมากเกินไปจนไตบวมน้ำ อย่างไรก็ตาม ต้องวิจัยขยายผลต่อไปว่า หากนาฬิกาในร่างกายมนุษย์ถูกรบกวนจะทำให้คนๆ นั้นเกิดความดันโลหิตสูงเหมือนหนูหรือไม่
ทั้งนี้ ความดันโลหิตจะสัมพันธ์กับช่วงเวลาของวัน เช่น ช่วงเช้าความดันโลหิตจะสูงกว่าปกติ แต่บางคนความดันโลหิตอาจสูงเพราะฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน ส่วนเรื่องยีนควบคุมความดันโลหิตเป็นเรื่องใหม่ การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการคิดวิธีรักษาความดันโลหิตให้ดีขึ้น