หลากวิธีแก้อาการนอนกัดฟัน
สำหรับวิธีรักษาพฤติกรรมการนอนขบเขี้ยว-เคี้ยวฟัน หรือนอนกัดกราม จนปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกิดบาดแผลที่กระพุ้งแก้มหรือเหงือก กระทบกระดูกขากรรไกร บางรายถึงกับปวดศีรษะ ฟันสึกกร่อน นพ.เอกชัย เสถียรพิทยากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาโรคปอด โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งศึกษาปัญหาการนอนเป็นพิเศษ เผยถึงการรักษาว่าควรเริ่มจาก พฤติกรรมบำบัด ที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงผู้ป่วยลดความเครียดหรือความกังวลด้วยการทำจิตใจให้สบาย อาจทำโดยการนั่งสมาธิ เล่นกีฬาเพื่อให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขอย่าง เอ็นโดฟินส์ รวมทั้งลดหรืองดการดื่มกาแฟและเหล้า
วิธีถัดไปคือการพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสภาพฟันและช่องปาก โดยผู้ป่วยอาจถูกถอนฟันซี่ที่ไม่มีคู่สบเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลจากการขบฟัน รวมทั้งการให้ผู้ป่วยใส่ฟันยางหรือเครื่องมือรั้งการสบฟัน เพื่อไม่ให้กรามกระทบกันได้ขณะหลับ พร้อมทั้งเปลี่ยนวิธีการสบฟันที่ผิดให้ถูกต้อง
ปัจจุบันมีการพัฒนาฟันยางที่ใช้แก้ไขพฤติกรรมนี้ ด้วยการปล่อยรสชาติเผ็ดหรือเปรี้ยวออกจากฟันยางเมื่อผู้ป่วยพยายามจะกัดฟันอย่างรุนแรง
ยังมีวิธี Bio Feedback เหมือนการทำผิดแล้วถูกลงโทษ สอนสมองให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว โดยแพทย์ผู้รักษาจะให้ใช้เครื่องมือที่มีตัวเซนเซอร์กล้ามเนื้อกราม หากกัดเข้าหากันในระดับรุนแรง เครื่องมือชนิดนี้จะส่งสัญญาณที่เป็นได้ทั้งในรูปแบบของเสียงที่ดังพอให้รู้สึกตัวแต่ไม่ถึงกับตื่น หรือในรูปแบบของกระแสไฟฟ้าที่ไม่เป็นอันตรายเพื่อช็อตให้สะดุ้ง เพราะเมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวก็จะหยุดกัดกราม
นอกจากนี้ยังมีการฉีดโบท็อกเข้ากล้ามเนื้อมัดที่ควบคุมการเคี้ยว ถือเป็นการทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ยังสามารถใช้งานหรือเคี้ยวอาหารได้เบา ๆ สำหรับวิธีนี้แพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เนื่องจากโบท็อกเป็นสารเคมีที่อันตรายหากเข้าสู่กระแสเลือดอาจถึงตายได้.