เทคนิคง่าย ๆ การใช้บิวเรตต์
ก่อนใช้บิวเรตต์จะต้องล้างให้สะอาด
บิวเรตต์เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรที่มีลักษณะคล้ายกับ Measuring pipet คือมีขีดบอกปริมาตรต่าง ๆ ไว้ บิวเรตต์มีหลายขนาด ดังนั้นเมื่อจะนำบิวเรตต์ไปใช้จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของงานที่จะนำไปใช้ด้วย
และต้องตรวจดูก๊อก สำหรับไขให้สารละลายไหลด้วยว่า
อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีหรือไม่ การล้างบิวเรตต์ปกติใช้สารซักฟอก หรือถ้าจำเป็นอาจต้องใช้สารละลายทำความสะอาดในกรณีที่ล้างด้วยสารซักฟอกไม่ออก
การล้าง
ต้องใช้แปรง ก้านยาวถูไปมาแล้วล้างด้วยน้ำประปาหลาย ๆ ครั้ง
จนแน่ใจว่าสารซักฟอกหรือสารละลายทำความสะอาดออกหมด
ต่อจากนั้นจะต้องล้างด้วยน้ำกลั่นเพียงเล็กน้อยอีก 1-2 ครั้งก่อนที่จะนำไปใช้งาน
ลักษณะของบิวเรตต์ที่สะอาดจะไม่มีหยดน้ำเล็ก ๆ เกาะอยู่ตามผิวแก้วด้านในของบิวเรตต์ และผิวน้ำจะไม่แตกแยก
สำหรับก๊อกปิดเปิดของบิวเรตต์ก็ต้องทำความสะอาดเช่นเดียวกัน
อาจล้างด้วยสารละลายทำความสะอาดหรือตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น เบนซีน หรือแอซีโตน
ใช้สำลีเช็ดก๊อกให้จาระบี ที่ทาไว้เดิมออกไป
แล้วทาจาระบี ที่ก๊อกใหม่ การทานั้นให้ทาเฉพาะตรงบริเวณ A และ B เท่านั้น
โดยบริเวณ A ทาตามขวาง ส่วนบริเวณ B ทาตามยาว
การทาจาระบีต้องทาบาง ๆ หากทาหนามากเกินไปจะอุดรูก๊อกของบิวเรตต์ได้
เมื่อจะใส่สารละลายในบิวเรตต์ จะต้องล้างบิวด้วยสารละลายนั้นก่อน
โดยใช้สารละลาย ประมาณ 5-10 มล. ใส่ลงไปหมุนบิวเรตต์ เพื่อให้สารละลายเปียกผิวด้านในของบิวเรตต์ อย่างทั่วถึง
เปิดก๊อกให้สารละลายไหลผ่านออกทางปลายบิวเรตต์ แล้วเทสารละลายนี้ทิ้งไป อาจทำซ้ำอีก 1-2 ครั้ง หรือมากกว่านี้ก็ได้
เพื่อให้แน่ใจว่าบิวเรตต์สะอาดจริง ๆ ต่อจากนั้น จึงค่อย ๆ เทสารละลายลงในบิวเรตต์ให้อยู่เหนือระดับ ขีดศูนย์เพียงเล็กน้อย (ก่อนเทสารละลายลงในบิวเรตต์ต้องปิดก๊อกก่อนเสมอ) แล้วปรับปริมาตร
โดยให้ส่วนเว้าต่ำสุดของสารละลายอยู่ตรงขีดบอกปริมาตรพอดี
การเทสารละลายลงในบิวเรตต์นี้เทคนิคที่ถูกต้องก็ คือ
จะต้องเทสารละลายผ่านกรวยกรอง เพื่อไม่ให้สารละลายหก อีกประการหนึ่งถ้าเทสารละลายใส่บีกเกอร์ก่อนแล้วจึงเทลงในบิวเรตต์ ถ้าบีกเกอร์ไม่สะอาดจะทำให้สารละลายนั้นสกปรกหรือความเข้มข้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ วิธีการทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิด ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
กล่าวโดยสรุปเทคนิคการใช้บิวเรตต์ที่ถูกต้องควรปฏิบัติดังนี้
1. ก่อนนำบิวเรตต์ไปใช้ต้องล้างบิวเรตต์ให้สะอาดด้วยสารซักฟอกหรือสารละลาย ทำความสะอาด ล้างให้สะอาดด้วยน้ำประปาแล้วล้างด้วยน้ำกลั่นอีก 2-3 ครั้ง
1. ล้างบิวเรตต์ด้วยสารละลายที่จะใช้เพียงเล็กน้อยอีก 2-3 ครั้ง แล้วปล่อยให้สารละลาย นี้ไหลออกทางปลายบิวเรตต์
3. ก่อนที่จะเทสารละลายลงในบิวเรตต์ต้องปิดบิวเรตต์ก่อนเสมอ และเทสารละลายลงในบิวเรตต์โดยผ่านทางกรวยกรอง ให้มีปริมาตรเหนือขีดศูนย์เล็กน้อย เอากรวยออกแล้วเปิดก๊อกให้สารละลายไหลออกทางปลายบิวเรตต์ เพื่อปรับให้ปริมาตรของสารละลายอยู่ที่ขีดศูนย์พอดี (ที่บริเวณปลายบิวเรตต์จะต้องไม่มีฟองอากาศเหลืออยู่ หากมีฟองอากาศจะต้องเปิดก๊อกให้สารละลายไล่อากาศออกไปจนหมด)
4. ถ้าปลายบิวเรตต์มีหยดน้ำของสารละลายติดอยู่ ต้องเอาออกโดยให้ปลายบิวเรตต์แตะกับบีกเกอร์หยดน้ำก็จะไหลออกไป
5. การจับปลายบิวเรตต์ที่ถูกต้อง หากใช้บิวเรตต์เพื่อการไทเทรต หรือการถ่ายเทสารในบิวเรตต์ลงสู่ภาชนะที่รองรับจะต้องให้ปลายบิวเรตต์อยู่ในภาชนะนั้น ทั้งนี้เพื่อไม่ให้สารละลายหก
6. เมื่อปล่อยสารละลายออกจากบิวเรตต์จนสารละลายลดลงถึงขีดบอกปริมาตรสุดท้ายของบิวเรตต์นั้น ๆ ต้องรีบปิดบิวเรตต์ทันที หากปล่อยให้สารละลายเลยขีดบอกปริมาตรสุดท้ายลงมา จะไม่ทราบปริมาตรที่แน่นอนของสารละลายที่ผ่านบิวเรตต์ลงมา
อนึ่ง ในกรณีที่ต้องใช้สารละลายที่มีจำนวนมาก
และใช้บิวเรตต์ในการถ่ายเท เมื่อปล่อยสารละลายจนถึงขีดบอกปริมาตรสุดท้ายแล้ว ต้องปิดบิวเรตต์ก่อน แล้วจึงเติมสารละลายลงในบิวเรตต์ ปรับให้มีระดับอยู่ที่ขีดศูนย์ใหม่ ต่อจากนั้นก็ปล่อยสารละลายลงมาจนกว่าจะได้ปริมาตรตามต้องการ
ขอขอบคุณ ข้อมูลที่มีประโยชน์จาก เว็บไซต์ Digital Library For School Net
เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนโลกอินเตอร์เน็ต
ผู้มีบทความทางด้านวิทยาศาสตร์น่ารู้
สามารถส่งผลงานของท่านมาได้ที่ arunee@teeneemedia.com