สารทดแทนเลือด
การใช้สารทดแทนเลือด
ซึ่งสกัดจากเลือดของวัวให้แก่มนุษย์ประสบความสำเร็จแล้วจากการศึกษาทดลองในเด็กชาวแอฟริกันที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจาง ซึ่งมีเม็ดเลือดแดงผิดปกติชนิดที่เรียกว่า Sickle cell anemina (SSA) คุณหมอมาริโอ เฟโอลา จากศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ แห่งรัฐเท็กซัสได้กล่าวว่า "การศึกษานี้เป็นครั้งแรกที่พบว่า การใช้สารทดแทนเลือดให้ผลดีกว่าเลือดที่ได้จากมนุษย์"
จากการศึกษาสารทดแทนเลือดนี้โดยให้สารดังกล่าว
ในปริมาณ 250 ซีซี. แก่เด็กชายชาวไซเรียนที่ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางชนิด SSA อย่างเฉียบพลัน แล้วทำการติดตามผลทุกๆ เดือนเป็นเวลา 6 เดือน พบว่า อาการเจ็บปวดของเด็กลดลงภายใน 1 - 2 ชั่วโมง ภายหลังการใช้สารนี้ โดยไม่ต้องใช้ยาระงับอาการปวด เช่น มอร์ฟีน หรือยาระงับปวดอื่นๆ คุณหมอเฟโอลา ยังได้กล่าวอีกว่า "ผู้ป่วยจะไม่เกิดภาวะวิกฤตของโรคในช่วง 3 เดือน"
ผลดีที่เกิดขึ้นดังกล่าว
เกิดจากสารนี้ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ คือสารนี้สามารถกระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดงโดยที่ปริมาณของเซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดของเม็ดเลือดแดงจะเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 47% ของปริมาณเลือดทั่วร่างกายภายใน 3 วัน นอกจากนี้ปริมาณของ ฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นตัวจับออกซิเจนในเลือดยังเพิ่มขึ้นจาก 5.6 เป็น 10.9 กรัมเปอร์เซ็นต์ ภายใน 5 วัน ซึ่งนับว่าเป็นอัตราการเพิ่มที่สูงมากที่เดียว
สารนี้ประกอบไปด้วย
ฮีโมโกลบิน ซึ่งสกัดจากเลือดของวัวพันธุ์ฮีรีฟอร์ดมาทำให้บริสุทธิ์และเติมสารเคมีที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการจับออกซิเจนลงไป สารทดแทนเลือดชนิดใหม่นี้ปราศจากทั้งสารพิษของแบคทีเรียและไขมัน ซึ่งปกติจะพบในผนังเซลล์ของเม็ดเลือดแดงปกติ รวมทั้งปลอดจากโปรตีนชนิดต่างๆ ที่พบในเซลล์เม็ดเลือดด้วย
ส่วนกลไกการทำงานในระดับที่ลึกซึ้งลงไปนั้น
คุณหมอเฟโอลาเชื่อว่า อาจจะเกิดจากสารนี้ไปกระตุ้นที่เซลล์เยื่อบุหลอดเลือด เซลล์กำจัดสารแปลกปลอมที่ชื่อว่า แมคโครฟาจก์ และเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด โมโนไซท์ ให้การเพิ่มการสร้างฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ ผลก็คือช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคเร็วขึ้น
ข้อดีของการให้สารทดแทนเลือดนี้
เราสามารถนำมาใช้ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบก่อนที่จะให้ผู้ป่วย ซึ่งถ้าเป็นการให้เลือดจากมนุษย์จะต้องทำการทดสอบก่อนทุกราย (ถึงแม้ว่าจะเป็นการให้เลือดในกลุ่มเดียวกันก็ตาม) สารนี้จึงมีความสะดวกในการใช้ และสามารถเก็บได้นานนับเดือนในตู้เย็นธรรมดา ค่าใช้จ่ายต่อการให้สารนี้แต่ละครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ 2,000 บาท ส่วนการให้เลือดจากมนุษย์นั้นในอเมริกาต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงถึง 280 เหรียญ หรือประมาณ 7,000 บาท ทีเดียว
อ่านมาตั้งนานแล้วยังไม่ได้บอกเลยว่าสารทดแทนเลือดนี้มีชื่อว่าอะไร
เราเรียกชื่อมันว่า สารละลายฮีโมโกลบิน
ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยสถาบันเทคโนโลยีของรัฐเท็กซัส และผลิตโดยสถาบันซีโรแวคซีโนจีโน อิตาเลียโน ในประเทศอิตาลี
ถึงยุคที่การบริจาคเลือดในบ้านเราขาดแคลนเมื่อไหร่
หรือพฤติกรรมของผู้รับเลือดเพื่อการรักษาเปลี่ยนไปอาจจะเนื่องมาจากการกลัวการติดโรคมาด้วย หรือโรคบางโรคอาจจะเหมาะที่จะใช้สารทดแทนเลือดดังกล่าว เมื่อนั้นสารทดแทนเลือดหรือเลือดเทียมที่ได้จากเลือดวัวนี้ก็อาจจะเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเราบ้างก็ได้
ขอขอบคุณ ข้อมูลที่มีประโยชน์จาก เว็บไซต์ Digital Library for school net
เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนโลกอินเตอร์เน็ต
ผู้มีบทความทางด้านวิทยาศาสตร์น่ารู้
สามารถส่งผลงานของท่านมาได้ที่ arunee@teeneemedia.com