ยาสิวจากเปลือกมังคุด หยุดเชื้อโรคตัวก่อสิว
เภสัชศาสตร์เชียงใหม่วิจัยปรุงยาแต้มหัวสิวจากน้ำหมักชีวภาพ
เผยศึกษาเปรียบเทียบน้ำหมักจาก เปลือกมังคุด กระชายดำ ขมิ้นชันและใบบัวบก พบเปลือกมังคุดมีสารชีวภาพที่ดีสุดในการออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรียตัวการเกิดสิวหัวหนอง
รศ.พิมพร ลีลาพรพิสิฐ อาจารย์ประจำสายวิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากพืชและน้ำหมักพืชที่มีในไทย กล่าวถึงผลจากโครงการศึกษาดังกล่าวว่า น้ำหมักชีวภาพจากเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดสำหรับพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์รักษาสิว โดยสามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด ที่เป็นตัวการก่อให้เกิดสิวหัวหนอง
ในการศึกษาได้เลือกน้ำหมักจากพืช 4 ชนิดที่พบในไทยคือ
เปลือกมังคุด กระชายดำ ขมิ้นชันและใบบัวบก นำมาหมักแยกกันโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นนำมากรองเพื่อแยกให้เหลือเฉพาะน้ำหมัก และส่งไปทดสอบประสิทธิภาพการรักษาสิว เปรียบเทียบ "สารสกัด" จากพืชชนิดเดียวกัน รศ.พิมพร กล่าว
สำหรับแบคทีเรียในการทดสอบ
ใช้โปรปิโอนิแบคทีเรียม แอคเน่ และสตาไฟโลคอกคัส ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดสิวหนอง โดยเชื้อตัวแรกกินไขมันเป็นอาหาร ส่วนเชื้อตัวหลังเป็นตัวก่อให้เกิดหนอง และกลายเป็นสิวอักเสบในที่สุด จากการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการพบว่า น้ำหมักชีวภาพและสารสกัดจากเปลือกมังคุดมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรีย ซึ่งเป็นตัวที่ก่อให้เกิดสิวหนองทั้งสองชนิดได้ดีที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างน้ำหมักชีวภาพกับสารสกัดแล้วพบว่า
"คุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิวหนองนั้นไม่แตกต่างกัน แต่หากพิจารณาถึงขั้นตอนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแล้ว น้ำหมักชีวภาพสามารถทำได้ง่ายกว่า
ขั้นตอนการผลิตไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อน
ขณะที่การสกัดสารจากพืชมีความซับซ้อนมากกว่า" นักวิจัย กล่าวและว่า การใช้น้ำหมักจากเปลือกมังคุดในผลิตภัณฑ์รักษาสิว ต้องคำนึงถึงความเข้มข้นที่เหมาะสมกับผิวหน้าด้วย
โครงการศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อสิวของสารสกัดจากพืชและน้ำหมักพืชที่มีในไทยนี้
แม้จะแล้วเสร็จไปตั้งแต่ปี 2549 แต่ยังไม่มีการต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้จะทดสอบในอาสาสมัคร ควบคู่กับการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ได้ผลดีเพิ่มขึ้น สำหรับต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป
ขอขอบคุณ ข้อมูลที่มีประโยชน์จาก เว็บไซต์ นสพ.คมชัดลึก
เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้บนโลกอินเตอร์เน็ต
ผู้มีบทความทางด้านวิทยาศาสตร์น่ารู้
สามารถส่งผลงานของท่านมาได้ที่ arunee@teeneemedia.com