รอกันมานานไอพีวี 6จุดเปลี่ยนโลกออนไลน์


 เชื่อหรือไม่ว่า ไอพีแอดเดรสเวอร์ชั่นที่เราใช้ระบุตัวตนบนโลกออนไลน์ปัจจุบัน หรือไอพีวี 4 (IPv4) ได้หมดลงตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของโลก รวมถึงไทยที่ต้องพัฒนาให้ก้าวไปเป็นไอพีวี 6 (IPv6)

รอกันมานานไอพีวี 6จุดเปลี่ยนโลกออนไลน์


          ไอพีวี สำคัญอย่างไร รศ.สินชัย กมลภิวงศ์ นายกสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย ให้คำตอบว่า ผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตคงรู้อยู่แล้วว่า การท่องอยู่บนโลกออนไลน์ เราจะเป็นใครก็ได้ เพราะไม่มีอะไรระบุความเป็นบุคคลคนนั้นได้ นอกจากไอพีแอดเดรสหรือหมายเลขไอพี ซึ่งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนทุกเครื่องทั่วโลกจะได้ตัวเลขไม่ซ้ำกันเลย

           
 ฉะนั้น การสิ้นสุดของไอพีวี 4 ก็หมายความว่า หมายเลขไอพีวีกว่า 4,000 ล้านเลขหมายถูกใช้จนหมดแล้ว และประเทศอื่นๆ ในโลกส่วนใหญ่ได้ก้าวสู่ไอพี 6 ไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการทุกตัวทั้งวินโดวส์ 7 แอนดรอยด์ หรือไอโอเอส ต่างพร้อมสำหรับไอพีวี 6 รวมถึงเว็บเบราเซอร์ทั้งไออี ไฟร์ฟอกซ์ และกูเกิลโครม

 สำหรับประเทศไทย แม้จะขยับตัวรับไอพีวี 6 มาตั้งแต่ปี 2543 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ความคืบหน้าก็ยังมีให้เห็นไม่มากนัก มีเพียงแผนปฏิบัติงานที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ และมีการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมนโยบายไอพีวี 6 เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายเตรียมความพร้อมรับไอพีวี 6

 กระทั่ง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้นำร่องใช้ไอพีวี 6 โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ตามมาด้วยรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ซึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาอุปกรณ์สำหรับการใช้งานที่ปลายทางลูกค้า ในการเชื่อมต่อเครือข่ายไอพีวี 6 แบบชั่วคราว พร้อมทั้งการแจกจ่ายหมายเลขไอพีวี 6 ให้แก่ผู้ใช้งานในประเทศ รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาการใช้งานไอพีวี 6 บนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ กสท อยู่ในขณะนี้

 ล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ทั่วโลกกำหนดให้เป็นวัน "เวิลด์ไอพีวี 6 เดย์" และผู้ให้บริการระดับโลกทั้งกูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูบ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกรายในไทยและอื่นๆ พร้อมใจกันปฏิบัติการทดสอบการใช้งานไอพีวี 6 เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยทำการทดสอบและตรวจสอบการใช้งานร่วมกันระหว่างไอพีวี 4 กับไอพีวี 6 เพื่อดูว่าจะมีผลกระทบหรือมีปัญหาใดบ้าง เมื่อต้องรองรับข้อมูลอินเทอร์เน็ตพร้อมกันทั้งโลก และควรจะเตรียมพร้อมรับมือ/แก้ไขอย่างไร

         "ความต่างของไอพีวี 4 กับ 6 คือปริมาณไอพีแอดเดรสที่มากขึ้น สามารถรองรับการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโลก ซึ่งรวมถึงผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เพราะปัจจุบันหมายเลขไอพีจากเวอร์ชั่น 4 ที่หมดลง มีผลต่อการขยายตัวของอินเทอร์เน็ต แม้จะไม่ได้ทำให้โลกอินเทอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ในทันที แต่การเข้าดูเว็บไซต์ต่างๆ มีความล่าช้าหรือติดขัดบ้าง" นายกสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทยอธิบาย

 เมื่อถามถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเป็นไอพีวี 6 รศ.สินชัยกล่าวว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัว ขณะที่เลขหมายไอพีซึ่งมีจำกัดได้ทยอยหมดลง จึงเกิดการแชร์ไอพีกัน สิ่งที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพในการใช้งานอินเทอร์เน็ตลดลง ยิ่งแชร์กันมาก เวลาเปิดเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ก็ช้า หรือเปิดไม่ได้เลย

 ดังนั้น ไอพีวี 6 จะตอบสนองการขยายตัวและความต้องการใช้งานเทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตในอนาคต โดยเฉพาะรองรับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของระบบแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ

 สิ่งที่ผู้ใช้จะได้ประโยชน์อย่างแน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนี้คือ การรับส่งข้อมูลและการใช้งานมัลติมีเดีย ซึ่งมีการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า เร็วกว่าไอพีวี 4 กว่า 50% อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อม พัฒนาคน ซอฟต์แวร์และโครงข่ายสาธารณูปโภค คาดว่าจะพร้อมใช้ไอพีวี 6 ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า

สาลินีย์ ทับพิลา


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์