โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)

โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)


จากการเยียวยาโรคสู่ ศัลยกรรมความงาม

ในระยะแรกของการนำ “โบท็อกซ์” มาใช้งานนั้น จุดประสงค์หลักๆ ก็คือ เพื่อใช้สำหรับรักษาอาการกระตุกของกล้ามเนื้อตา อาการตาเหล่หรือตาเข ตลอดไปจนถึงอาการปวดตึง ผิดธรรมดาของกล้ามเนื้อคอ   โดยมีการอนุญาตให้ใช้ได้ในประเทศสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2532

แต่เรื่องของการฉีดโบท็อกซ์มาฮือฮากันจริงๆ ก็ตอนที่องค์การอาหารและยา สหรัฐฯ หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆ ว่า เอฟดีเอ (FDA, Food and Drug Administration) อนุมัติให้ใช้ “โบท็อกซ์” เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมความงามในเดือนเมษายน 2545 เพราะฉะนั้น ใครไปฉีดโบท็อกซ์กันมาก่อนหน้านั้น

ก็ควรจะรับทราบกันไว้ด้วยว่า เป็นการทำศัลยกรรมแบบผิดกฎหมายนะครับ

เนื่องจากไม่มีหน่วยงานไหนในโลก รับรองความปลอดภัยให้นะครับ ส่วนของประเทศไทยนั้น องค์การอาหารและยา (หรือ อย.) อนุญาตให้ใช้ได้หรือไม่ ผมยังค้นข้อมูลแบบเป็นทางการไม่พบนะครับ ถ้าใครพอทราบช่วยบอกให้ทราบด้วยนะครับ

ประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ การฉีดโบท็อกซ์นั้นจะเห็นผลได้เร็วมากคือ อาจจะเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 2-3 วันภายหลังจากการฉีด แต่ผลจากการฉีดจะไม่คงอยู่อย่างถาวรนะครับคือ มีรายงานว่าจะอยู่ได้ราว 3-6 เดือน (อาจนานได้ถึง 8 เดือน) หากต้องการลบรอยย่นอีก ก็ต้องฉีดซ้ำอีก โดยจะต้องเป็นการฉีดโดยตรง ที่กล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆ เพื่อลดความเสี่ยง จากการแพร่กระจายของท็อกซิน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน


undefined

โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)


ความคลั่งไคล้ “ความงามแบบเปลือกๆ”

นั้นมีอย่างมากมายมหาศาลจนเหลือเชื่อเลยล่ะครับ สมาคมศัลยกรรมพลาสติก เพื่อความงามแห่งอเมริกา (ASAPS, the American Society for Aesthetic Plastic Surgery) ระบุว่า การฉีดโบท็อกซ์ เป็นกระบวนการที่เติบโตเร็วที่สุด ในอุตสาหกรรมเสริมความงามในปี 2544 โดยพบว่ามีชาวอเมริกันจำนวน มากกว่า 1.6 ล้านคน ที่ฉีดโบท็อกซ์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนนั้นราว 46 เปอร์เซ็นต์

จำนวนดังกล่าวมากจน แซงหน้าจำนวนผู้ที่ผ่าตัดเสริมหน้าอก (ซึ่งเป็นศัลยกรรมความงาม อีกแบบหนึ่งที่ฮิตมากในสหรัฐฯ) ในปีนั้นเสียอีก และถ้าใครช่างสังเกตสักนิด ก็จะสังเกตเห็นได้ว่า ตัวเลขที่ผมยกมาเป็นของปี 2544 ซึ่งเป็นปีก่อนหน้าที่ FDA จะอนุมัติ ให้ใช้โบท็อกซ์ เพื่อประโยชน์ด้านความงามเสียอีก

ไม่แน่ว่าสาเหตุหลักๆ ของเรื่องนี้อาจจะมาจากคำโฆษณา

ประเภทที่ว่า “คุณสามารถกลับเป็นหนุ่มสาวได้ง่ายๆ เพียงแค่การฉีดโบท็อกซ์เพียงเข็มเดียว” หรือไม่ก็ “ลบรอยเหี่ยวย่น รอยตีนกาได้ผลทันใจ” อะไรประมาณนั้น … ก็เป็นได้นะครับ

ไหนๆ ก็พาดพิงถึงเรื่องการผ่าตัดเสริมอกแล้ว ก็ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยว่า ข้อมูลที่ได้จากนิตยสาร Time ฉบับวันที่ 18 เมษายน 2548 ระบุว่า FDA ประกาศยกเลิกการใช้ ซิลิโคน สำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอกไปก่อนหน้านี้แล้วถึง 13 ปี สาเหตุหลักก็คือความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยมีสถิติที่ชี้ว่า ... มีโอกาสเสี่ยงสูงถึง 74 เปอร์เซ็นต์สำหรับคนไข้ ที่จะเกิดการแตกของถุงซิลิโคน ภายในระยะเวลา 10 ปีภายหลังการผ่าตัด



สูงจนน่าตกใจเลยนะครับ ... เอ ว่าแต่เมืองไทยยังใช้ “ซิลิโคน” สำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอกกันอยู่ (อย่างถูกกฎหมาย) หรือเปล่า ใครพอจะทราบไหมครับ ?

undefined

โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)


undefined

สวยแบบสุ่มเสี่ยง

ข้อมูลที่คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ทราบกันก็คือ ในสหรัฐฯ นั้น การฉีดโบท็อกซ์เพื่อลบรอยเหี่ยวย่นหรือรอยตีนกา สามารถทำให้กับคนไข้อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้น หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ศัลยกรรมความงามด้วยโบท็อกซ์ที่ทำกันอยู่นั้น จำนวนมากเป็นการทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผมก็ยังสงสัยว่า … ในหมู่คนไทยนั้น ไม่ว่าแพทย์หรือคนไข้จะมีสักกี่คนที่ทราบเรื่องนี้ เพราะเห็นโฆษณากันโครมครามจนดูเหมือนว่า ใครที่ต้องการก็น่าจะทำได้ (ถ้ามีเงินพอจ่าย)!

นอกเหนือจากข้อควรระวังบางประการ จากการฉีดโบท็อกซ์

เช่น การดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมีผลทำให้โบท็อกซ์ออกฤทธิ์ได้ไม่ดี หรืออาจแย่ไปกว่านั้นอีกก็คือ ทำให้เกิดรอยแผล บริเวณตำแหน่งที่ฉีดโบท็อกซ์ได้อีกด้วย แต่คำเตือนที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นที่ FDA เตือนไว้เช่นกันก็คือ ในระหว่างการฉีดโบท็อกซ์ อาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้เสมอ (มักจะเกิดกับคนไข้ราว 3-10 เปอร์เซ็นต์) จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแล อย่างใกล้ชิดของแพทย์ และต้องทำการฉีดในสถานที่ซึ่งมีเครื่องมือ พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้

ผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกซ์นั้น มีหลายรูปแบบด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นอาการเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ปวดศีรษะ คลื่นไส้ คัน เจ็บคอ มีไข้ มีอาการคล้ายเป็นหวัด ไปจนถึงเกิดอาการเจ็บปวดและเกิดแผลช้ำบริเวณที่ฉีด เกิดอาการกล้ามเนื้อเปลือกตาหย่อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นต้น

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดนั้น การฉีดโบท็อกซ์ที่ผิดขนาดไปมากๆ อาจทำให้คนไข้เสียชีวิตได้เช่นกัน


โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)


ในเอกสารการวิจัยทางการแพทย์ก็มีระบุว่า

ผู้ที่ฉีดโบท็อกซ์บ่อยๆ นั้นมีผลข้างเคียงที่คาดไม่ถึงอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีใบหน้าที่ ดูคล้ายหน้ากาก คือ   แลดูไม่มีอารมณ์ ความรู้สึกมากขึ้นทุกที   ซึ่งก็คล้ายกับอาการ ที่พบในผู้ป่วยที่โดนพิษโบท็อกซ์ ตามธรรมชาติบางราย ที่เป็นอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าบางส่วน เนื่องจากโบท็อกซ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายและได้มาก การควบคุมปริมาณหรือโดส (dose) ของโบท็อกซ์ให้ถูกต้องเหมาะสม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

โบท็อกซ์ (Botox): สวยด้วยยาพิษ(2)


วิทยาศาสตร์ฟุ่มเฟือย = วิทยาศาสตร์เทียม?

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้ว่าเรื่องของโบท็อกซ์นั้น จะมีข้อมูลพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับอยู่จริง และไม่ได้เป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” ด้วยตัวของมันเองก็ตามที   แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า   การที่เริ่มต้นจากเจตนาดีที่ต้องการนำ   โบท็อกซ์มาใช้ในการรักษาโรค

แต่ต่อมาก็เกิดเลยเถิดมาเป็นเรื่องของการทำศัลยกรรมความงามไปเสียได้ (เรียกว่า “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” ไปเสียนี่) ทำให้ช่วยเน้นย้ำว่า ...

ตัวความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ได้มีความดีหรือความเลว โดยตัวของมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับ ผู้นำไปใช้ และ จุดประสงค์ของการนำไปใช้ มากกว่า ว่าเป็นไป เพื่อประโยชน์ หรือ เพื่อผลประโยชน์

นับว่าเป็นเรื่องที่แปลกแต่จริงนะครับ … เวลาอ่านนิยายกำลังภายในจีนแล้ว เราอาจจะพบว่าในเนื้อเรื่องมีการ ใช้พิษไปแก้พิษ (เข้าทำนองสุภาษิตไทยที่ว่า “หนามยอกให้เอาหนามบ่ง”) ซึ่งฟังดูออกจะแปลกประหลาดพิกลมากแล้ว แต่การใช้พิษแก้พิษก็จะกลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเลย ... เมื่อเทียบกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการ ใช้พิษเสริมความงาม กันอย่างมากมายบานตะไท (ชนิดไม่กลัวตายกันเลยทีเดียว)

 ขอขอบคุณสาระดีดีจาก
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เขียน และวิชาการ.คอม ค่ะ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์