เทคโนประดิษฐ์-พลาสติกกันยูวี ฝีมือไทยคลุมโรงเรือนเร่งดอกผล
สวทช.รวมกลุ่มนักวิจัยหลากสาขาสร้างพลาสติกชนิดพิเศษสำหรับคลุมโรงเรือนปลูกพืช
ให้ผลผลิตเพิ่มชัดเจน ระบุเดินเครื่องผลิตลอตแรก 2 หมื่นกิโลเมตร ใช้งานจริงในโครงการหลวง
ชูคุณสมบัติกรองแยกยูวีออกจากแสงแดดได้ 99% ป้องกันเล็ดลอดไปทำอันตรายพืช และปล่อยผ่านเฉพาะคลื่นแสงที่เป็นประโยชน์ ผลทดสอบพืชเติบโตเร็ว
รศ.ดร.ศักรินทร์ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า
นักวิจัยหลากหลายสาขาจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด สวทช.ร่วมกันพัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือนเพาะปลูกให้มีคุณสมบัติพิเศษ โดยสามารถกรองป้องกันรังสียูวีทะลุไปทำร้ายต้นพืช ขณะเดียวกันจะยอมให้แสงในช่วงแสงที่เป็นประโยชน์ต่อพืชผ่านไปได้ ทำให้พืชภายในโรงเรือนเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตในปริมาณมากขึ้น
จากการทดสอบคุณสมบัติของพลาสติกกันยูวีโดยใช้คลุมโรงเรือนสาธิต
ที่ปลูกพริกหวาน มะเขือเทศ เมลอนและสตรอเบอร์รี่พบได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เช่น พริกหวานพบการเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นแดงได้เร็วขึ้น เก็บเกี่ยวได้มากกว่าปกติ และเมื่อวิจัยต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี พบความแตกต่างด้านการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างชัดเจน ทำให้เป็นที่น่าพอใจ
ดร.ธรรมรัตน์ปัญญธรรมาภรณ์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติสวทช. กล่าวว่า
นักวิจัยศึกษาเคลือบสารป้องกันรังสียูวีบนเม็ดพลาสติก ก่อนนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นพลาสติก ทำให้ได้วัสดุที่มีประสิทธิภาพกรองรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ ยูวี ซึ่งเป็นแสงในช่วงคลื่นที่พืชไม่ต้องการได้ถึง 99% ทั้งนี้ รังสียูวีก่ออันตรายต่อเซลล์พืชหากได้รับในปริมาณมาก ทั้งยังทำให้เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ด้วย
การวิจัยในก้าวต่อไปจะศึกษาปัจจัยแวดล้อมเช่น
อุณหภูมิ ความชื้นและปริมาณแสง ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด โดยร่วมศึกษากับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เพื่อพัฒนาพลาสติกคลุมโรงเรือนที่เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด ขณะที่ศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จะดูแลการใช้ซอฟต์แวร์เสมือนจริงประเมินประสิทธิภาพการทดสอบในภาคสนาม
นายบุรินทร์ศรีรัตนกานต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทควอลิตี้ แพคพริ้นติ้ง 2000 จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่าวว่า
บริษัทพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตพลาสติกกันยูวีดังกล่าวให้ได้ 2 หมื่นกิโลเมตรในสายการผลิตแรก เพื่อใช้งานจริงในมูลนิธิโครงการหลวงกว่า 36 โครงการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ปัจจุบันเกษตรกรที่ต้องการใช้พลาสติกกรองรังสียูวี
จะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศในราคา 70-1,000 บาทต่อตารางเมตร ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินค้า แต่หากเอกชนไทยผลิตพลาสติกดังกล่าวได้เอง ราคาก็จะถูกลง 20-25 บาทต่อตารางเมตร