ดีท็อกซ์ ได้ผลจริงหรือ?

ดีท็อกซ์  ได้ผลจริงหรือ?


ดีท็อกซ์ … ได้ผลจริงหรือ?

บางคนก็ว่า การทำดีท็อกซ์ได้ผลดี แต่บางคนก็มีได้ผลน้อยหรือมีปัญหาตอนทำดีท็อกซ์ด้วยซ้ำไป ... ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? การที่ทำดีท็อกซ์แล้วได้ผลดีในบางคนนั้น เนื่องจากอาหารจำพวกผักและผลไม้มีผลดีต่อร่างกายดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ในรายที่ทานผัก ผลไม้น้อยหรือไม่ยอมทานเอาเสียเลย จึงมีโอกาสเห็นผลได้เร็วและมาก ... แม้ว่าอาจจะเป็นช่วงเวลาการเข้าคอร์สเพียง 3-10 วัน โดยเฉพาะในคนที่ปกติไม่ทานผักผลไม้ หรือทานผักผลไม้น้อยอยู่แล้ว

การลดอาหารจำพวกแป้งก็เป็นวิธีหลักของคนที่ต้องการลดน้ำหนักอยู่แล้ว เพราะการที่คนเรามีน้ำหนักตัวเพิ่ม สาเหตุหลักก็คือ มีพลังงานจากอาหารที่ทานเข้าไปมากกว่าพลังงานที่นำไปใช้งานแต่ละวัน จึงเกิดการสะสม และพลังงานที่ว่านั้น ก็มาจากแป้งและไขมันต่างๆ เป็นหลักนั่นเอง แต่การงดแป้งไปเลยมีผลเสียมากนะครับ ไม่ควรทำ (อันนี้ขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ)

แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางฝั่งที่ไม่เชื่อว่า การทำดีท็อกซ์จะช่วยให้ร่างกายมีสุขภาพดีอย่างจริงจังอยู่ไม่น้อยเช่นกัน พวกเขาไม่เชื่อว่า “สมมติฐาน” ที่ว่า ร่างกายของคนเราสะสม “สารพิษ” ที่มาจากสิ่งแวดล้อม และจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งต้องมีการ “ล้าง(สาร) พิษ” เหล่านี้ออกจากร่างกายนั้น ไม่น่าจะเป็นความจริงครับ

ดีท็อกซ์  ได้ผลจริงหรือ?


แม้หลายคนอาจจะรู้สึกเราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยมลภาวะ

แต่ “ข้อเท็จจริง (fact)” ที่เป็นที่ประจักษ์อย่างไม่ทีทางโต้แย้งได้ก็คือ คนเรามีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นตลอดเวลา ซึ่งอาจจะชี้ให้เห็นได้ว่า ร่างกายมีวิธีจัดการกับสารพิษต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพมากอยู่แล้วตามธรรมชาติ … ผู้ที่ให้ความเห็นเรื่องนี้ได้แรงและชัดเจนที่สุดรายหนึ่งก็คือ คุณหมอวินเซนท์ คอร์ดาโร แพทย์จากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐฯ (หรือที่คุ้นกันในชื่อ FDA) บอกว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง เผ่าพันธุ์มนุษย์คงจะต้องไม่สามารถอยู่รอดได้”

คุณหมอปีเตอร์ โฟดอร์ กล่าวแรงไปกว่านั้นอีก คือถึงกับฟันธงลงไปเลยว่า “มีการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับสารพิษพวกนี้ขึ้นมา เพราะมันจะทำให้พวกเขามีอะไรบางอย่างที่ทำให้สามารถ “แสร้งว่า” รักษาได้” ในขณะที่ดร. ไมเคิล เฮิร์ท ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์บูรณาการ (the Center for Integrative Medicine) ที่ศูนย์การแพทย์เอนซิโน-ทาร์ซานา ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการปวดศีรษะหรืออาการภูมิแพ้ที่อ้างกันว่า เป็นผลมาจากสารพิษในร่างกายว่าเกิดจากคนจำนวนมากมักนอนหลับไม่เพียงพอ ทานน้ำตาลมากเกินไป และมีความเครียดสูง ดังนั้น ไลฟ์สไตล์ (life style) ของคนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นต้นเหตุของอาการป่วยข้างต้น ไม่ใช่สารพิษดังที่อ้างกัน

อันที่จริงแนวคิดเรื่องการล้างพิษนี้มีกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ จีน และอินเดียโบราณ แต่ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ แม้จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่เคยมีใครสามารถระบุได้ว่า สารพิษที่ว่าสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดความเจ็บป่วยต่างๆ นานานั้น  คือ สารอะไรกันแน่  

ข้อเท็จจริงอีกเรื่องหนึ่งที่อาจทำให้การทำดีท็อกซ์เป็นเรื่อง “เกินจำเป็น” ก็คือ ร่างกายของคนเรานั้นมีวิวัฒนาการตามธรรมชาติที่ดีเยี่ยมอย่างน่าอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ปริมาณของเสียที่ร่างกายขอเรากำจัดได้ในแต่ละครั้งที่เราปัสสาวะนั้น หากต้องการช่วยให้เรากำจัดของเสียได้เท่าๆ กันด้วยวิธีการอบซาวนา … เราก็จะต้องอบจนเหงื่อออกอย่างชุ่มโชกไปไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง!

คนกลุ่มนี้จึงสรุปว่า ... ดูเหมือนว่า ร่างกายจะไม่ต้องการความช่วยเหลือในการกำจัดของเสียสักเท่าไหร่นะครับ

ดีท็อกซ์  ได้ผลจริงหรือ?


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการทำดีท็อกซ์

การทำดีท็อกซ์อาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน หากไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่รู้สึกเหนื่อยอ่อน ปวดศีรษะ ไปจนถึงขั้นล้มป่วย ซึ่งก็มักจะอ้างกันว่าเป็นผลจากที่ร่างกายกำลังขจัดของเสียต่างๆ ออกมา แต่อันที่จริงแล้ว เป็นผลมาจากการที่ร่างกายปรับตัวไม่ได้ เนื่องจากขาดอาหารอย่างปัจจุบันทันด่วนนั่นเอง นอกจากนี้ การทำดีท็อกซ์ติดต่อกันนานๆ อาจทำให้เกิดการขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุบางอย่างได้ และอาจทำให้ลดภูมิต้านทานของร่างกายลง … ซึ่งตรงกันข้ามกับข้ออ้างที่ว่า ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน

ส่วนการที่ดูเหมือนว่า การทำดีท็อกซ์ช่วยลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็วนั้น ก็มักจะเป็นเพียงภาวะเพียงชั่วคราว ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียไขมันและน้ำปริมาณมากอย่างปุบปับ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเรื่องอาหารอย่างหนัก ซึ่งน้ำหนักเหล่านี้จะกลับมาทันทีที่คุณเลิกทำดีท็อกซ์ และหันกลับไปทานอาหารโปรด (ซึ่งก็มักจะอยู่ในรายการอาหารต้องห้าม) จนทำให้เกิดผลกระทบแบบลูกดิ่งโย-โย (Yo-yo effect)

ซึ่งผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือ การเกิดอาการเดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอมสลับกันไปมา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียในระยะยาวมากยิ่งขึ้นไปอีก

ตัวอย่างเรื่องสรรพคุณเกินจริงในต่างประเทศ

ดังที่เล่าให้ฟังเป็นบ้างแล้วข้างต้นว่า เรื่องดีท็อกซ์นี้ มีการอวดอ้างสรรพคุณหลายๆ อย่างเกินจริง องค์กรที่ดูแลเรื่องนี้ในต่างประเทศก็จับตาดูอยู่นะครับ เช่น คณะกรรมาธิการการค้าของสหพันธ์หรือเอฟทีซี (FTC, Federal Trade Commission) ประเทศสหรัฐฯ เคยเล่นงานบริษัทที่กล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์ของตนสามารถใช้รักษาโรคได้ เช่น บริษัทชื่อ ลิเวอไรท์ โปรดักส์ (Liverite Products Inc.) ที่เมืองทัสกิน ที่กล่าวอ้างเกินจริงเรื่องอาหารเสริมของตนที่มีส่วนผสมของตับวัวว่า สามารถ “ล้างพิษ” ตับและช่วยรักษาโรคตับที่เกิดจากแอลกอฮอล์ โรคตับอักเสบ และโรคตับแข็งได้ ก็ถูกเอฟทีซีสั่งฟ้องและถูกศาลสร้างสั่งปรับเป็นเงิน 60,000 เหรียญ

บริษัทลากูนา ฮิลล์ ที่อ้างว่า การฟอกเลือดของตนสามารถรักษาโรคหัวใจได้ ซึ่งแพ้คดีที่ถูกเอฟทีซีฟ้องร้องต่อศาล เพราะข้อมูลจากสถาบันวิชาการต่างๆ รวมทั้งสมาคมหัวใจแห่งอเมริกาว่ายืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

เรื่องการสวนล้างทำความสะอาดลำไส้ด้วยน้ำหรือกาแฟก็เช่นกัน แพทย์จำนวนมากต่างยืนยันตรงกันว่า ไม่มีหลักฐานเลยว่า ลำไส้สร้างของเสียตามที่อ้างกัน นอกจากนี้แล้ว ลำไส้ก็จะผลัดเปลี่ยนเซลล์บุผิวทุกๆ สัปดาห์อยู่แล้ว อันที่จริง มีเพียงรัฐเดียวในสหรัฐฯ คือ ฟลอริดา ที่ยินยอมให้มีการสวนล้างทำความสะอาดลำไส้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็พบว่า มีรายงานเรื่องการติดเชื้อ การบาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตจากกระบวนการดังกล่าว

คำตอบในเรื่องสุขภาพที่ดีคงต้องคิดไปถึงหลักการเบื้องต้นง่ายๆ ในหนังสือ “สุขศึกษา” (ที่ผมเรียนสมัยเด็กๆ) นั่นก็คือ ทานอาหารให้ครบหมู่และถูกสัดส่วน ทานน้ำให้มากพอ นอนหลับสนิทอย่างเพียงพอ และออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ นอกเหนือไปจาก “ทางสายกลาง” เหล่านี้แล้ว ก็ให้ระวังตัวกันไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะว่า อะไรๆ ที่เกินพอดีหรือสุดโต่งไปมากๆ หรืออ้างกันว่าดีเลิศ วิเศษนั้น ก็มักจะไม่ค่อยจะดีจริงหรอกครับ

อยากได้สุขภาพที่ดีคงต้องลงแรงบ้าง ... ทางลัดสำหรับเรื่องนี้ คงไม่มีจริงกระมังครับ J  


ขอขอบคุณสาระดีดีจาก
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้เขียน และวิชาการ.คอม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์