รูปแบบเครื่องยนต์ใช้ NGV
1. เครื่องยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงเพียงอย่างเดียว (Dedicated NGV)
เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ โดยมีระบบเผาไหม้เชื้อเพลิง แบบที่ต้องใช้หัวเทียนในการจุดระเบิด จะมีทั้งรถที่ผลิตออกมาจากโรงงานรถยนต์โดยตรง (OEM) และที่ทำการดัดแปลงเครื่องยนต์ภายหลัง
ข้อดี : ส่วนใหญ่ออกแบบมาจากโรงงาน มีประสิทธิภาพ/สมรรถนะดี และ มีคุณภาพไอเสียดี
ข้อเสีย : ราคาสูงและไม่มีความยืดหยุ่นในการใช้เชื้อเพลิง
2. เครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงได้สองประเภท ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่
- เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงสองระบบ (Bi-Fuel) เป็นเครื่องยนต์เบนซินที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถังก๊าซ เพิ่มเติมสามารถเลือกใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งน้ำมันเบนซิน และ ก๊าซธรรมชาติ
- เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงร่วม (Diesel Dual Fuel) เป็นเครื่องยนต์ดีเซลที่ติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซฯและถังก๊าซ เช่นเดียวกับระบบเชื้อเพลิงสองระบบ (Bi-Fuel) ซึ่งต้องใช้น้ำมันดีเซลร่วมกับก๊าซธรรมชาติ โดยใช้น้ำมันดีเซลเป็นตัวจุดระเบิดนำร่อง
ข้อดี : มีความยืดหยุ่นในการใช้เชื้อเพลิง และราคาติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซธรรมชาติ ถูกกว่าการซื้อรถ NGV ใหม่
ข้อเสีย : ไม่สามารถปรับเครื่องยนต์ให้เหมาะสมกับ NGV ได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับประเทศไทยของเรานั้น โดยการนำของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
ได้มีการจัดทำแผนการขยายการใช้ก๊าซธรรมชาติในยานยนต์ต่างๆ โดยในระยะแรก เป็นการดำเนินการดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเป็นระบบเชื้อเพลิงร่วม (Dual-fuel System) ซึ่งใช้ได้ทั้งน้ำมันดีเซล และก๊าซธรรมชาติ ต่อมาได้ดัดแปลงเครื่องยนต์เบนซินเป็นระบบเชื้อเพลิงสองชนิด หรือ ระบบเชื้อเพลิงทวิ (Bi–fuel System)
ซึ่งเป็นระบบที่สามารถเลือกใช้น้ำมันเบนซิน หรือใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงได้ โดยเพียงแต่ปรับสวิตช์เลือกใช้เชื้อเพลิงเท่านั้น ระบบนี้มีทั้งผลิตจากโรงงานโดยตรง หรือนำรถยนต์เบนซินเดิมมาติดตั้งอุปกรณ์ใช้ NGV เพิ่มเติม ซึ่งแบ่งได้ 2 ระบบ คือ
1. ระบบดูดก๊าซ (Fumigation System)
ซึ่งจะมีอุปกรณ์ผสมก๊าซและอากาศ (Gas Mixer) ทำหน้าที่ผสมอากาศที่เครื่องยนต์ดูดเข้าไปกับก๊าซ NGV ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการเผาไหม้ก่อนที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ อุปกรณ์หลัก ๆ ประกอบด้วย
- ถังก๊าซ
- หัวเติมก๊าซ
- หม้อต้มหรืออุปกรณ์ปรับความดันก๊าซ (Pressure Regulator or Reducer)
- อุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Timing Advancer)
- สวิทช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ทำหน้าที่ตัด/ต่อระบบควบคุมแต่ละเชื้อเพลิง
สามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยติดตั้งแบบวงจรปิด (Closed Loop) ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น ชุดควบคุมอิเล็คทรอนิคส์ ชุดควบคุมการจ่ายก๊าซ ฯ ค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ไม่น้อยเลยทีเดียวใช่ไหมค่ะ
2. ระบบหัวฉีด (Multi Point Injection System, MPI)
ระบบนี้มีการจ่ายเชื้อเพลิงก๊าซด้วยหัวฉีดที่ท่อไอดีของแต่ละสูบโดยเฉพาะ และควบคุมส่วนผสมแบบใช้อากาศพอดี โดยชุดควบคุมอิเลคทรอนิคส์ รับสัญญาณมาจากตัวตรวจวัดออกซิเจน และตัวตรวจวัดอื่นๆ ทำการประมวลผลควบคุมการเปิด-ปิด ของหัวฉีดก๊าซปล่อยก๊าซออกไป ที่ท่อไอดีแต่ละสูบให้เหมาะสม กับปริมาณอากาศทุกสภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ และเกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ค่าอุปกรณ์และการติดตั้ง ประมาณ 52,000 – 65,000 บาท โดยชุดอุปกรณ์หลัก ๆ มีดังนี้
- ชุดควบคุมอิเล็คทรกนิคส์ (Electronic Control Unit)
- อุปกรณ์ปรับความดับก๊าซ (Pressure Regulator)
- อุปกรณ์ปรับเวลาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ (Timing Advancer)
- สวิตช์เลือกชนิดเชื้อเพลิง ถังบรรจุก๊าซ (CNG Cylinder)
- ชุดจ่ายก๊าซ (Gas Distributor) ตัวตรวจวัดออกซิเจน (Oxygen Sensor)
มาถึงตอนนี้เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านต้องมีคำถามอยู่ในใจเป็นคำถามเดียวกันทุกคน คือ “แล้วจะคุ้มไหมน่ะที่จะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้รถสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเชื้อเพลิงที่ถูกลง???”
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีก ณ กรุงเทพมหานคร
(ข้อมูลเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549) แสดงให้เห็นว่าราคาก๊าซ NGV ถูกกว่าน้ำมันเบนซิน 95 มาก (ราคาเพียงหนึ่งในสามของน้ำมันเบนซิลเองค่ะ) ดังนั้นเพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยของทุกท่านเราจะคำนวณระยะเวลาคืนทุนให้เห็นกันชัดเจนเลยค่ะ
ระยะเวลาคืนทุนเมื่อใช้ระบบเชื้อเพลิง NGV (แทนเบนซิน) จะขึ้นกับระยะทางวิ่งใช้งานของรถดังนี้
รายการ | ระบบดูดก๊าซ (วงจรเปิด) | ||
ราคาอุปกรณ์รวมถัง FIBER ขนาด 70 ลิตร (บาท) | 35,000 | ||
ระยะทางการวิ่งต่อวัน (กม.) | 50 | 100 | 200 |
อัตราความสิ้นเปลืองน้ำมันเบนซิน (กม./ลิตร) | 10 | 10 | 10 |
อัตราความสิ้นเปลือง NGV (กม./ลิตร) | 10 | 10 | 10 |
ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน (บาท/ลิตร) | 26.84 | 26.84 | 26.84 |
ราคาขายปลีก NGV (บาท/ลิตร) | 8.5 | 8.5 | 8.5 |
อัตราความประหยัด (บาท/กม.) | 1.88 | 1.88 | 1.88 |
ประหยัดค่าเชื้อเพลิงต่อวัน (บาท) | 92 | 184 | 368 |
ระยะเวลาคืนทุน (เดือน) | 12.68 | 6.34 | 3.17 |
หมายเหตุ ราคาน้ำมันที่ใช้คำนวณเป็นราคาที่ประกาศโดย ปตท. เมื่อวันที่วันที่ 17 มกราคม 2549
น่าสนใจไม่น้อยเลยใช่ไหมค่ะ เพียงแค่ปีเศษๆ ก็คุ้มทุนแล้วล่ะค่ะสำหรับท่านที่ขับรถเพียง 50 กิโลเมตรต่อวัน ส่วนท่านที่ใช้รถมากกว่านั้น... หายห่วงเลยค่ะไม่ถึงปีก็ได้กำไรแล้ว... จากนั้นเมื่อเราตัดสินใจจะหันมาเอาดีกับรถ NGV แล้ว อุปกรณ์ที่สำคัญที่ต้องรู้เป็นอันดับแรก คืออะไรรู้ไหมค่ะ แหม! คำตอบก็ง่ายนิดเดียว ก็ถังก๊าซยังไงล่ะค่ะ
ดร. อรสา อ่อนจันทร์ ผู้เขียน และวิชาการ.คอม ค่ะ