เฟซบุ๊กหั่นทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้นทิ้ง เหลือ4.74

เฟซบุ๊กหั่นทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้นทิ้ง เหลือ4.74



"เฟซบุ๊ก"หั่น"ทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้น"ทิ้ง เหลือ"4.74 " ผูัเชี่ยวชาญชี้มนุษย์เริ่มใกล้ชิดกันมากขึ้น


          ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของเฟซบุ๊กร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งมิลานพบว่า ผู้ใช้เว็บไซต์สังคมออนไลน์แต่ละรายจะสามารถรู้จักกันได้ไม่เกิน 4.74 ช่วงความสัมพันธ์ จากเดิมที่ทฤษฎี "The Six Degree of Separation" หรือ"ทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้น" ที่ระบุไว้ว่า คนทุกคนในโลกจะรู้จักกันผ่านความสัมพันธ์ไม่เกิน 6 ขั้นเท่านั้น

ฝ่ายข้อมูลของเฟซบุ๊กได้โพสต์ผลการศึกษาดังกล่าวผ่านหน้าเว็บบล็อก Facebook Data Team เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผลการศึกษาในผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งสิ้น 721 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 10 ของประชากรทั่วโลก โดยใช้วิธีคิดแบบอัลกอริธึมขั้นสูง เพื่อคำนวณหาจำนวนของความคาดหวังระหว่างแต่ละคู่ของผู้ใช้เฟซบุ๊ก

โดยผลการศึกษาพบว่า ระดับขั้นของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้สองรายไม่ว่าคนใดก็ตาม อยู่ที่ 4.74  ขั้น ซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่าที่มีการกล่าวอ้างตามทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้น และต่างจากผลการศึกษาเมื่อปี 2008 ที่พบว่าระดับขั้นของความสัมพันธ์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอยู่ที่ 5.28 ขั้น ขณะที่ในสหรัฐฯ ซึ่งประชาชนที่มีอายุมากกว่า 13 ปี มากกว่าครึ่งใช้เฟซบุ๊กต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 4.37 และเริ่มลดลงเรื่อยๆในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมๆไปกับการเติบโตของเฟซบุ๊ก

แม้ว่าผลการศึกษาครั้งนี้ จะมีตัวเลขที่ห่างไกลจากทฤษฎีเดิมค่อนข้างมาก และก่อให้เกิดคำถามต่อคำจำกัดความของคำว่า"เพื่อน"ทางเฟซบุ๊ก

ผลการศึกษาของไมโครซอฟท์เมื่อปี 2008 ซึ่งใช้คำจำกัดความของคำว่าเพื่อนแบบเดิม พบว่า ผู้คนจำนวน 240 ล้านคนที่ใช้บริการพูดคุยผ่านเครือข่ายไมโครซอฟท์ หรือเอ็มเอสเอ็น พบว่าผู้ใช้แต่ละคนมีระดัยขั้นของความสัมพันธ์ที่ห่างกัน 6.6 ขั้น โดยนายอีริก ฮอร์วิตซ์ นักวิจัยของไมโครซอฟท์กล่าวว่า เครือข่ายที่ใช้ในการวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของผู้ใช้ที่แลกเปลี่ยนข้อความกัน มากกว่าที่จะผู้ใช้ที่อยู่ในสถานะ"บัดดี้" หรือเพื่อน

ขณะที่นายจอน ไคลน์เบิร์ก ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ในฐานะที่ปรึกษาของการศึกษาครั้งนี้เผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกันของบุคคลแต่ละคู่อาจมี"ความหมาย"แตกต่างกัน เขาชี้ว่าในยุคปัจจุบัน เรามีความใกล้ชิดด้านความรู้สึกกับคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา แสดงความเห็นอกเห็นใจต่อเรา หรือมีอะไรบางอย่างเหมือนกับเรามากขึ้น และความสัมพันธ์แบบหลวมๆนี่เองที่ทำให้โลกแคบลง

อย่างไรก็ดี เขาระบุว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวก็แทบจะไม่ได้ไร้ความหมายไปเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าข่าวคราวต่างๆสามารถแพร่ขยายไปได้อย่างรวดเร็วผ่านความสัมพันธ์ที่ก่อตัวแบบหลวมๆ หากว่ามีใครส่งข่าวดีๆมาให้เรา เราก็อาจส่งต่อให้เพื่อนคนอื่นทราบได้ แต่หากเป็นเรื่องไม่ดี เราก็อาจจะไม่ส่งต่อ

ทฤษฎีความสัมพันธ์ 6 ขั้น เริ่มต้นขึ้นในปี 1929 เมื่อนักเขียนชาวฮังกาเรียนคนหนึ่งชื่อนายฟริกเยส คารินธีย์ได้เขียนเรื่องสั้นขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ Chain Link  ซึ่งในนั้นได้กล่าวถึงความคิดแปลกๆ ของเขาว่า คนสองคนสามารถรู้จักกันได้ไม่เกิน 5 ช่วงความสัมพันธ์ ความคิดนี้กลายเป็นที่โจษจันกันอย่างแพร่หลาย

ก่อนที่จะได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 1967 จากการทดลองของ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ดร. สแตนลี่ย์ มิลแกรม ชาวสหรัฐฯ ซึ่งทำการทดลองส่งจดหมายไปหาเพื่อนของเขาที่เมืองบอสตัน โดยส่งจดหมายจำนวนหลายฉบับผ่านไปยังอาสาสมัครจำนวน 296 คน และให้อาสาสมัครเหล่านี้ส่งจดหมายต่อไปให้คนรู้จัก ที่เขาคิดว่าน่าจะรู้จักผู้รับปลายทางที่รออยู่ที่บอสตันมากที่สุด ปรากฏว่าผลสรุปของการทดลองนี้พบว่า ผู้รับจดหมายได้รับโดยผ่านการส่งต่อเป็นทอดๆ เฉลี่ยแล้ว 6 ครั้งเท่านั้น


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์